ปรับค่าแรงเหมาะสมเป็นธรรม

09 มิ.ย. 2562 | 11:30 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3477 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 9-12 มิ.ย.2562

 

ปรับค่าแรง

เหมาะสมเป็นธรรม

 

                นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างที่พรรคการเมืองนำมาใช้ในการหาเสียง เพื่อสร้างความนิยมทางการเมือง กำลังกลายเป็นที่จับตามองของภาคเอกชนอีกครั้ง และเริ่มมีความกังวลว่าหากรัฐบาลชุดใหม่มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง ตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ เช่น ค่าแรงขั้นตํ่า 400-425 บาทต่อวัน เงินเดือนอาชีวศึกษา 18,000 บาท เงินเดือนผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 20,000 บาท จะส่งผล กระทบกับต้นทุนของผู้ประกอบการอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นการปรับเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

                องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กำหนดกรอบการปรับค่าจ้างขั้นตํ่าให้ทุกประเทศนำมาใช้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันคือ การนำข้อมูลทางสถิติ และตัวชี้วัดต่างๆ มาสะท้อนภาวะค่าครองชีพของแรงงาน และผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ เพื่อให้แรงงานมีรายได้ที่เพียงพอต่อภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน และไม่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ราคาสินค้า และความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ และควรมีการกำหนดระยะเวลาการปรับที่แน่นอน ที่สำคัญคือต้องนำข้อมูลเชิงสถิติมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศ ในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน

                ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า ค่าจ้างแรงงานโดยรวมของไทยเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอัตราค่าจ้างในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 2% ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 3.29% โดยมีมูลค่าเท่ากับ 12,388 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ เมื่อหักเงินเฟ้อที่ 0.8% ทำให้ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.5% ขณะที่ผลิตภาพแรงงานโดยรวมเพิ่มขึ้นไม่มากนักที่ 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าอัตราค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าประสิทธิภาพแรงงาน

                นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นตํ่าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ยังพบด้วยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่อัตราค่าจ้างขั้นตํ่าสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียนสูงกว่าทั้งประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ดังนี้ ไทย 308 - 330 บาทต่อวัน อินโดนีเซีย 288 บาทต่อวัน มาเลเซีย 280 บาทต่อวัน กัมพูชา 193 บาทต่อวัน ฟิลิปปินส์ 163 - 325 บาทต่อวัน เวียดนาม 133 - 189 บาทต่อวัน สปป. ลาว 135 บาทต่อวัน และเมียนมา 98 บาทต่อวัน

                ดังนั้นรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศจะต้องพิจารณาในเรื่องการปรับอัตราค่าจ้างอย่างรอบคอบ เพื่อให้อัตราค่าจ้างขั้นตํ่าเป็นอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมให้กับแรงงานไม่มีทักษะ เพิ่งเริ่มทำงานมีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพในหนึ่งวัน ในขณะที่แรงงานมีประสบการณ์การทำงานมากขึ้น ก็ควรจะต้องได้รับค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นตํ่า รวมทั้งควรคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศควบคู่กันไปด้วย