ตลาด2ล้อพลิกเกมสู้ ดันไทยฐานผลิตบิ๊กไบค์

11 มิ.ย. 2562 | 03:25 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย-กรุงศรี ประสานเสียงตลาดส่งออก บิ๊กไบค์ขนาดเล็กรุ่ง ชี้เทรนด์ลูกค้าเอเชีย-จีน ส่งสัญญาณบวกอ้าแขนรับ ด้านไทรอัมพ์ เผยตลาดในประเทศยังไม่อิ่มตัวแม้ยอดขายจะลดลงพร้อมเดินหน้าเพิ่มการผลิต หวังส่งออกโต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า การส่งออกรถบิ๊กไบค์จากไทยไปตลาดในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 20 % หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 264 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆจะอยู่ที่ 730 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเติบโต 7% หรือรวมมูลค่าการส่งออกรถบิ๊กไบค์ของไทยในปี 2562 คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 994 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเติบโต 10.0 %

ปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากตลาดบิ๊กไบค์ในเอเชีย มีแนวโน้มเติบโตตามสภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า 3 ปีหลังจากนี้ บิ๊กไบค์รุ่นเล็ก (251-500 ซีซี)จะมีบทบาทต่อการส่งออกของไทยไปเอเชีย เพราะราคาเอื้อมถึงและจำนวนของผู้บริโภคหน้าใหม่ในภูมิภาคนี้มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรีที่วิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันที่ว่า ยอดผลิตรถจักรยานยนต์ในไทยปี 2562-2564 มีแนวโน้มเติบโต โดยตลาดส่งออกจะขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น เพราะมีผู้ผลิตรายใหญ่อย่างฮาร์ลีย์-เดวิดสันที่เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อให้เป็นฐานการผลิตและส่งออกไปยังตลาดอาเซียนรวมถึงประเทศจีน

คาดว่าในปีนี้ยอดส่งออกรถจักรยานยนต์(CBU)ของไทยจะเติบโต 2-4% หรือประมาณ 3.8-3.9 แสนคัน และในปี 2563,2564 จะขยายตัวเพิ่ม 3 - 5 % หรือประมาณ 3.9-4.0 แสนคันและ 4.1- 4.2 แสนคัน ขณะที่ยอดส่งออกชิ้นส่วน (CKD)ในช่วง 1 - 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตตามความต้องการชิ้นส่วนเพื่อประกอบรถจักรยานยนต์ในอาเซียนและญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นตลาดหลัก

 

ตลาด2ล้อพลิกเกมสู้ ดันไทยฐานผลิตบิ๊กไบค์

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ผลิตรถจักรยานยนต์มากกว่า 14 แบรนด์ จากโรงงานผลิต 12 แห่ง มีกำลังการผลิตรวมมากกว่า 3.66 ล้านคันต่อปี เฉพาะแบรนด์ญี่ปุ่น อย่าง ฮอนด้า ,ยามาฮ่า,ซูซูกิ และคาวาซากิ มีกำลังการผลิตรถจักรยานยนต์ทุกประเภทรวมกันคิดเป็น 87% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในไทย ส่วนแบรนด์อื่นๆที่ผลิตในไทยประกอบไปด้วย SYM จากไต้หวัน,Ryuka จีน, จีพีเอ็กซ์ ไทย,เบเนลลี่ อิตาลี,คีเวย์ จีน,ไทรอัมพ์ อังกฤษ,บีเอ็ม ดับเบิลยู เยอรมนี,ดูคาติ อิตาลี, ฮาร์ลีย์ เดวิดสัน สหรัฐ อเมริกา,รอยัล เอนฟิลด์ อินเดีย และ CF MOTO จีน

“ยอดผลิตรถจักรยานยนต์และยอดขายในประเทศช่วงที่ผ่านมาลดลง ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจ หรือ
กำลังซื้อที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามตลาดส่งออกถือว่าดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มรถบิ๊กไบค์ ที่หลายค่ายตัดสินใจเข้ามาลงทุนและใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก “นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าว

สำหรับตัวเลขการส่งออกเดือนมกราคม - เมษายน 2562 รถจักรยานยนต์ มีจำนวน 334,209 คัน (รวม CBU + CKD) เพิ่มขึ้น 8.68% คิดเป็นมูลค่า 24,455.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.91% ด้านชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ ส่งออกทั้งสิ้น 976.22 ล้านบาท ลดลง 33.51% และอะไหล่รถจักรยานยนต์ ส่งออกทั้งสิ้น 451.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.82 % รวมมูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์เดือนมกราคม-เมษายน 2562 ชิ้นส่วนและอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 25,882.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.13%

 

 

ขณะที่ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศเดือนเมษายน 2562 ทำได้ 120,405 คัน ลดลง 1% เมื่อมาดูตัวเลขการขายสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม- เมษายน 2562 พบว่ามียอดขาย 582,454 คัน ลดลง 0.7%

นายจักรพงษ์ ศานติรัตน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่าตลาดบิ๊กไบค์ในกลุ่มพรีเมียมชะลอตัวลง แต่ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว อย่างไรก็ตามยอดขายรวมอาจจะอยู่ที่ 5,000 คัน ลดลงจากปีก่อนที่ขายได้ 5,600 คัน ส่วนยอดขายของไทรอัมพ์ในปีนี้คาดว่าจะทำได้ 2,000 คัน ลดลงจากปีก่อนที่ทำได้มากกว่า 2,400 คัน

“ภาพรวมตลาดที่ยังไม่เติบโต และการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง ทั้งเรื่องโปรโมชัน การเปิดตัวรถใหม่ ราคาจำหน่าย ทั้งหมดนี้มีผลด้านการขายที่ไปแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดระหว่างแบรนด์ แต่ไม่ได้มีผลให้ภาพใหญ่ขยายตัวตาม โดยรวมๆเบื้องต้นสำหรับตลาดรถบิ๊กไบค์ในกลุ่มพรีเมียมยังไม่เห็นปัจจัยบวกที่จะมีผลมาช่วยให้ตลาดมีการขยายตัว”

นายจักรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ตลาดในประเทศจะทรงตัว แต่โรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ไทรอัมพ์ในประเทศไทย มีเป้าหมายที่จะผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีโมเดลใหม่ที่จะเปิดตัวกับตลาด โดยปัจจุบันไทรอัมพ์ที่ทำตลาดทั่วโลก ถูกผลิตจากโรงงานในไทย 70% และอีก 30% ผลิตจากโรงงานที่อังกฤษ

เรียกได้ว่าแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องสำหรับตลาดส่งออกรถจักรยานยนต์ของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มบิ๊กไบค์ ซึ่งแม้ภาพรวมยอดขายของเซ็กเมนต์นี้จะไม่ได้ใหญ่เมื่อเทียบกับยอดขายรถจักรยานยนต์ทั่วโลก แต่เทรนด์ของบิ๊กไบค์ขนาดเล็ก ที่ราคาจับต้องได้ และเหมาะสมกับตลาดในประเทศแถบเอเชียที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ล้วนส่งผลให้ไทยที่เป็นฐานการผลิตรถประเภทดังกล่าวได้รับอานิสงส์และถือว่าเข้ามาชดเชยกับตลาดในประเทศที่กำลังทรงตัวอยู่ในตอนนี้ 

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3477 วันที่ 9-12 มิถุนายน 2562

ตลาด2ล้อพลิกเกมสู้ ดันไทยฐานผลิตบิ๊กไบค์