การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงของเช็ก : โอกาสสำหรับไทย

11 มิ.ย. 2562 | 03:29 น.

 

 

บทความพิเศษโดย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก

 

 

ในยุคปัจจุบันที่กระแสโลกกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลแบบเต็มตัว ประเทศต่าง ๆ

ก็ต้องพัฒนาตนเองด้านโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรของประเทศเพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ ประเทศใดที่สามารถปรับตัวได้รวดเร็วและมีความพร้อมมากกว่าในการรับมือกับโลกยุคดิจิทัลและโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีก็ย่อมจะเป็นผู้ได้เปรียบในเวทีระหว่างประเทศและสามารถที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ก่อนประเทศอื่น

สำหรับเช็กซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็กในภูมิภาคยุโรปกลาง ที่รายล้อมไปด้วยประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างเยอรมนี ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ จึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับตัวเพื่อไม่ให้ตกขบวนรถไฟของการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมารัฐบาลเช็กได้เร่งดำเนินการเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างเป็นระบบ เริ่มจากการประกาศแผนยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรม 2019 – 2030 ของเช็ก (Innovation Strategy of the Czech Republic 2019 - 2030) เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 และตามมาด้วยการรับรองแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านปัญญาประดิษฐ์ (The National Artificial Intelligence Strategy of the Czech Republic หรือ The National AI Strategy – NAIS) ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรม 2019 – 2030 ของเช็ก เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2562 โดยวัตถุประสงค์หลักคือ การเตรียมความพร้อมให้เช็กก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศผู้นำแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงภายใน 12 ปี (ในปี ค.ศ. 2030) โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเช็ก และได้จัดตั้งคณะกรรมการด้าน AI ซึ่งมี รองนายกรัฐมนตรีเช็กด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเช็กเป็นผู้กำกับดูแล 

การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงของเช็ก : โอกาสสำหรับไทย

วัตถุประสงค์ของแผนยุทธศาสตร์ด้าน AI ของเช็ก

แผนยุทธศาสตร์ด้าน AI ถูกร่างขึ้นบนสมมุติฐานคือ แนวโน้มของ AI อุตสาหกรรมยานยนต์ (automation) หุ่นยนต์ (robotics) และประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น electromobility, data economy และระบบเครือข่าย 5G

ในปัจจุบัน ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม บริการ และเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเช็กมุ่งพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม (innovative economy) และสนับสนุนภาคเอกชนภายในประเทศให้เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัล ในขณะเดียวกันก็มุ่งเสริมสร้างระบบรักษาความปลอดภัยและเสริมสร้างความมั่นคงให้กับประชาชน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อกับภาครัฐ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เช็กก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศที่ทันสมัยและก้าวหน้าที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยสาขาที่ได้รับความสำคัญในลำดับต้นของแผนยุทธศาสตร์ AI คือ ความมั่นคงและการทหาร (Security and Defence) อุตสาหกรรมการผลิต (Industrial Production) เครื่องมือในการสื่อสารของมนุษย์ (human-machine communication) รวมถึงความมั่นคงทางคอมพิวเตอร์ (computer security) หุ่นยนต์ (robotics) ยานยนต์ไร้คนขับ (self-driving cars) และโปรแกรมช่วยจำ/แปลภาษา (application for language recognition)

แผนยุทธศาสตร์ด้าน AI ครอบคลุมประเด็นที่สำคัญจำนวน 7 ประเด็น ได้แก่ (1) การสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และการพัฒนา (2) การให้เงินสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา และการสนับสนุนด้านการลงทุนและพัฒนาสภาพแวดล้อมของเช็กเพื่อรองรับ AI ในอนาคต (3) บทบาทของ AI ในอุตสาหกรรม ภาคบริการ การบริหารภาครัฐ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การปรับขึ้นของอัตราค่าจ้าง และขีดความสามารถในการแข่งขันของ ประเทศ (4) ทรัพยากรมนุษย์และระบบการศึกษาควบคู่กับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (5) แนวทางในการศึกษาผลกระทบที่ AI มีต่อตลาดแรงงานและระบบสังคม (6) แง่มุมด้านกฎหมายและสังคมของ AI กฎระเบียบด้านศีลธรรมจรรยา แนวทางปกป้องผู้บริโภค และประเด็นด้านความมั่นคง และ (7) ความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศ

ระหว่างการแถลงนโยบายยุทธศาสตร์ด้าน AI นาย Andrej Babis นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐเช็ก

นาย Karel Havlicek รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเช็ก และนาย Petr Ocko

รัฐมนตรีช่วยด้านดิจิทัลและนวัตกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเช็กได้ย้ำถึงความตั้งใจที่จะทำให้เช็กก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางของการเป็น “European Super Hub for AI” โดยกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการเป็น 3 ระยะ ได้แก่ เป้าหมายในระยะสั้น คือการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้าน AI แห่งยุโรป ณ กรุงปราก (European Centre of AI Excellence in Prague) ภายใน ค.ศ. 2021 โดยเน้นการดำเนินการด้าน R&D และความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา และกำหนดเป้าหมายระยะกลางและระยะยาวที่จะต้องบรรลุภายในปี ค.ศ. 2027 และ 2035 ตามลำดับ

การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงของเช็ก : โอกาสสำหรับไทย

โอกาสสำหรับประเทศไทย

โดยที่ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวทาง Thailand 4.0

การส่งเสริมศักยภาพของธุรกิจ start-ups การพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง รวมทั้งการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดตั้ง Smart City การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และการพัฒนาระบบราง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน EEC ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงและจุดแข็งในอุตสาหกรรมดังกล่าวของเช็ก จึงน่าจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทยในการเรียนรู้และแสวงหาโอกาสและช่องทางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเสริมสร้างความร่วมมือกับเช็กในเรื่อง AI และประเด็นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้าน AI และความร่วมมือด้าน R&D ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ควรมองข้ามศักยภาพของเช็กในด้าน AI เศรษฐกิจ นวัตกรรม และเทคโนโลยีชั้นสูง ทั้งนี้ ความร่วมมือกับเช็กจะช่วยให้ไทยลดการพึ่งพิงการลงทุนและเทคโนโลยีชั้นสูงจากประเทศมหาอำนาจที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ในภูมิภาค เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ อีกทั้งความร่วมมือในด้าน AI ยังสามารถต่อยอดไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีชั้นสูงและนวัตกรรมสาขาอื่น ๆ กับประเทศในยุโรปอื่น ๆ ที่มีศักยภาพสูง เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักรได้ต่อไปในอนาคต

การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงของเช็ก : โอกาสสำหรับไทย

การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงของเช็ก : โอกาสสำหรับไทย