พาณิชย์เตรียมถกกรมประมง แก้ปัญหาผลกระทบไอยูยู

11 มิ.ย. 2562 | 11:23 น.

พาณิชย์เตรียมถกกรมประมง

แก้ปัญหาผลกระทบไอยูยู

นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยกล่าวถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายประมง (IUU) ว่า สมาคมประมงฯ ระบุว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวทำให้ชาวประมงไทยได้รับผลกระทบจากขั้นตอนการติดต่อขอใบอนุญาตที่มีขั้นตอนยุ่งยาก รวมถึงการเรียกร้องให้จำกัดจำนวนโควตาสินค้าอาหารทะเลที่เข้ามาจำหน่ายในไทย กรมฯพิจารณาแล้วชี้แจงว่า กรมประมงเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขผลกระทบต่างๆที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายประมง (ด้าน IUU Fishing) ซึ่งในสัปดาห์หน้ากรมจะหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางการปฎิบัติร่วมกันต่อไป เนื่องจากเนื้องานส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมประมงซึ่งในส่วนของกรมจะรับผิดชอบเกี่ยวกับมาตรการที่เกี่ยวข้องกับองค์การการค้าโลก(WTO)แต่เนื่องจากไทยไม่ได้ผูกพันสินค้าประมงไว้กับ WTO กรมจึงไม่สามารถจำกัดปริมาณการนำเข้าได้

อย่างไรก็ดีการห้ามหรือกำหนดมาตรการนำเข้าของกระทรวงพาณิชย์ตามพ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าพ.ศ. 2522 จะต้องมีเหตุผลความจำเป็นเช่น เพื่อความมั่นคงของประเทศเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  หรือเพื่อการสาธารณสุขและต้องพิจารณาผลกระทบต่างๆอย่างรอบคอบรอบด้าน  ซึ่งหากประเทศไทยห้ามนำเข้าสินค้าประมงเฉพาะจากบางประเทศ เช่น ประเทศเพื่อนบ้าน จะถือเป็นการเลือกปฏิบัติได้

“ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าจะเข้าข่ายพ.ร.บ.การส่งออกฯหรือมีผลกระทบด้านความมั่นคงหรือเศรษฐกิจแม้ว่าสถิติการนำเข้าสินค้าประมงจะเพิ่มขึ้นกรมก็ทำอะไรไม่ได้เพราะส่วนใหญ่ไทยก็ทำเข้าสินค้าประมงพวกทูน่าเป็นจำนวนมากในแต่ละปีส่วนจะนำเข้าจากเพื่อนบ้านมีอะไรบ้างนั้นต้องตรวจสอบอีกครั้งหากพบว่าเข้าข่ายกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของไทยกรมพร้อมจะใช้มาตรการตามอำนาจที่มีอยู่  ดังนั้นกรมต้องหารือกับทางกรมประมงก่อนเพื่อหาทางออกร่วมกัน” นายวันชัย กล่าว

สำหรับการนำเข้าสัตว์น้ำสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปพบว่าปี 2559 มีปริมาณ 1.47 ล้านตัน ปี 2560 ปริมาณ 1.44ล้านตันและปี 2561 มีปริมาณ 1.67 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 คิดเป็น 16% โดยสัตว์น้ำที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มปลาทูน่าสด แช่เย็น แช่แข็งถึง 51% รองลงมาคือ กลุ่มปลาแ,มอน ปลาเทราค์ ปลาค็อด ปลาแมคเคอเรล คิดเป็น 8% รองลงมาเป็นกลุ่มปลาหมึกสด แช่เย็น แช่แข็ง คือเป็น 8% ส่วนปี 2562 (ม.ค.-เม.ย.) มีการนำเข้ารวม 0.52 ล้านตันเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.52%