‘ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค’ นำทีมจิตอาสา สร้างความยั่งยืนป่าต้นน้ำแม่แจ่ม

16 มิ.ย. 2562 | 05:10 น.

จากแนวพระราชดำริ การทำนุบำรุง ปรับปรุงสภาพทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ถูกนำมาต่อยอดสร้างเป็นโครงการอีกมากมาย เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งล่าสุด บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ SPBT ได้ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย ได้นำทีมจิตอาสาของบริษัท 56 คน พร้อมด้วยชุมชนบ้านห้วยผักกูด ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นนํ้า ภายใต้แนวคิด “ลิฟวิ่งวิทวอเตอร์ : Living with Water” หรือ “มิซู โตะ อิคิรุ”

‘ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค’ นำทีมจิตอาสา  สร้างความยั่งยืนป่าต้นน้ำแม่แจ่ม

“โอเมอร์ มาลิค” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ด้วยแนวคิดที่สอดคล้องกันของเป๊ปซี่โคและซันโทรี่ ซึ่งผนึกรวมกันมาประมาณปีกว่า เกี่ยวกับการทำสิ่งที่ถูกต้องให้กับสังคม โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับนํ้า ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและเป็นหัวใจหลักของปรัชญาการดำเนินธุรกิจ ทำให้บริษัทได้ร่วมมือกับ มูลนิธิรักษ์ไทย ทำงานร่วมกันใน 2 โครงการหลัก คือ 1. ให้ความรู้เรื่องนํ้าแก่คนชุมชนและเยาวชน ผ่านกิจกรรม Train the Trainers อบรมครูและบุคลากรในท้องถิ่น เพื่อส่งต่อความรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน ในจังหวัดระยองและจังหวัดสระบุรี เพื่อสร้างสำนึกการใช้นํ้าอย่างรู้คุณค่า รวม 35 โรงเรียน 2. การอนุรักษ์และฟืื้นฟูต้นนํ้าต่างๆ ในประเทศ จึงทำให้เกิดโครงการอนุรักษ์ต้นนํ้า พื้นที่ลุ่มนํ้าแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการดำเนินงานตามศาสตร์พระราชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในการอนุรักษ์นํ้า ดิน และป่าไม้ 

‘ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค’ นำทีมจิตอาสา  สร้างความยั่งยืนป่าต้นน้ำแม่แจ่ม

การอนุรักษ์ต้นนํ้า ได้วางแผนร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย สร้างฝายชะลอนํ้า 200 ฝาย ปลูกป่าจำนวน 500 ไร่ ปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เสี่ยงระยะ 20 กิโลเมตร เพื่อช่วยในการดักตะกอนชะลอการไหลของนํ้า ลดการพังทลายของหน้าดินและป้องกันปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน รวมทั้งสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่า คืนความสมดุลของระบบนิเวศให้แก่ธรรมชาติ และยังวางระบบประปาหมู่บ้าน ติดตั้งเครื่องกรองนํ้าให้แก่ 4 ชุมชนต้นแบบ ในเขตตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชนชาวเขาในพื้นที่ห่างไกลได้มีนํ้าสะอาดใช้เพื่อบริโภค เป็นการทำประโยชน์ให้คนในชุมชน 4 หมู่บ้านจำนวนกว่า 2,000 คน 

ดร.พรชัย ศรีประไพ กรรมการมูลนิธิรักษ์ไทย บอกว่า วิธีการทำงานของมูลนิธิรักษ์ไทย คือ การให้ความรู้ สร้างให้คนให้ชุมชนตระหนักแล้วนำไปทำต่อ พร้อมทั้งตรวจสอบและดูแลกันเอง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และขยายต่อไปเรื่อยๆ 

‘ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค’ นำทีมจิตอาสา  สร้างความยั่งยืนป่าต้นน้ำแม่แจ่ม

“บุญลือ ธรรมธรานุรักษ์” นายอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ให้รายละเอียดว่า ปัญหาของคนในแม่แจ่ม คือ การขาดสิทธิทำกิน เพราะพื้นที่ 95% ของแม่แจ่มเป็นพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเป็นที่ของเขตอุทยานแห่งชาติอีก 1% ข้อจำกัดทางที่ดินที่เขาไม่มีที่กรรมสิทธิ ทำให้พวกเขาต้องเปิดพื้นที่เพื่อทำเกษตรสร้างรายได้สร้างอาชีพ และปัญหาที่ตามมา คือ ความเสื่อมโทรมของดินนํ้าป่า 15 ปี เสียพื้นที่ 2 แสนไร่ไปเป็นที่ปลูกข้าวโพด ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งการปลูกต้องใช้สารเคมี ทำให้เกิดสารป่นเปื้อนไปกับนํ้าและดิน 

‘ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค’ นำทีมจิตอาสา  สร้างความยั่งยืนป่าต้นน้ำแม่แจ่ม

ขณะเดียวกัน การปลูกพืชเชิงเดี่ยว และการปลูกข้าวโพด ที่่ส่งผลให้สภาพดินเสื่อมโทรมไปเรื่อยๆ ทำให้ผลผลิตในปีต่อๆ ไปลดลง รายได้เกษตรกรก็ลด และจนทำให้เกิดหนี้สินในที่สุด ผู้ปลูกก็ป่วยโดยโรคผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ 

การร่วมกันระหว่าง เป๊ปซี่ ซันโทรี่ และมูลนิธิรักษ์ไทย จึงถือเป็นแนวทางการแก้ไขตั้งแต่ต้นทางของปัญหา พร้อมสร้างเสริมความรู้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรมไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ปัญหาเหล่านั้นสามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืน

 

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,478 วันที่ 13 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2562

‘ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค’ นำทีมจิตอาสา  สร้างความยั่งยืนป่าต้นน้ำแม่แจ่ม