ยอดระดมทุนตั้งอินโนสเปซไทยแลนด์พุ่ง 640ล้านบาท

12 มิ.ย. 2562 | 09:40 น.

กสอ.เผยยอดระดมทุนจัดตั้งอินโนสเปลซไทยแลนด์เบื้องต้นทะลุ 640 ล้านบาทจากองค์กรภาคเอกชนและสถาบันการเงิน  ระบุเตรียมระดมทุนเดือนกรกฎาคมประมาณ 200 ล้านบาท  พร้อมสรรหาผู้บริหารระดับสูงที่มีประสบการณ์  ชี้ไม่มีปันผลให้ผู้ลงทุน

นายกอบชัย  สังสิทธิ์สวัสดิ์  อธิบดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า  จากการลงนามบันทึกความเข้าใจกับภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐ-เอกชน สถาบันการเงิน และสถาบันการศึกษา รวม 30 องค์กร เพื่อร่วมกันส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพ เพื่อเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและสตาร์ทอัพของอาเซียนนั้น  ขณะนี้มีบริษัทเอกชน สนใจระดมทุนจัดตั้งบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด  เบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 640 ล้านบาท สูงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้เบื้องต้น 500 ล้านบาท เช่น บริษัท  ปตท. จำกัด (มหาชน) 100 ล้านบาท , บริษัท  ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 100 ล้านบาท,บริษัท  เครือเจริญโภคภัณฑ์  จำกัด 100 ล้านบาท, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 100 ล้านบาท

นอกจากนี้นังมีธนาคารไทยพาณิชย์ 50 ล้านบาท  ,ธนาคารกรุงเทพ 50 ล้านบาท   ,ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SMEDBank (ธพว.) 30ล้านบาท  ,เครือสหพัฒน์ 30 ล้านบาท  ,บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด  (มหาชน) 30ล้านบาท  ,บริษัทไทยยูเนี่ยน  กรุ๊ป จำกัด 30 ล้านบาท  บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) 20 ล้านบาท  โดยทุกหน่วยงานอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมขององค์กรเพื่อหาข้อสรุป  ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงในการระดมทุนภายในเดือนกรกฎาคม  และจะเริ่มระดมทุนเบื้องต้น 1 ใน 4 ของวงเงินทั้งหมด  หรือประมาณ 200 ล้านบาทในเดือนกรกฎาคมเช่นเดียวกัน

นายเทวินทร์  วงศ์วานิช  ประธานที่ปรึกษา  บริษัท  อินโนสเปซ  (ประเทศไทย)  โลกยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  โดยมีสตาร์ทอัพหรือวิสาหกิจเริ่มต้นเป็นกลไกลในการนำนวัตกรรมใหม่ๆมาต่อยอดเป็นธุรกิจที่สร้างผลิตภัณฑ์ และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค  และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศในทุกมิติ  โดยบริษัท  อินโนสเปซฯ  มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อน Innovative Ecosystem ที่จะเอื้อต่อการบ่มเพาะพัฒนาสตาร์ทอัพไทยให้เข้มแข็ง  เติบโตได้และแข่งขันได้ในเวทีโลก  เป็นรากฐานของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจร่วมกันสร้างประโยชน์ให้กับประเทศเป็นสำคัญ 

ยอดระดมทุนตั้งอินโนสเปซไทยแลนด์พุ่ง 640ล้านบาท

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ MOU ครั้งนี้  เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานบริษัทโดยไม่หวังผลตอบแทน   และจะนำรายได้กลับมาสนับสนุนการดำเนินการของสตาร์ทอัพตามภารกิจต่อไป  โดยมีเป้าหมายจะสนับสนุนตลอดวงจรชีวิต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้น Pre-Seed หรือ Seed ทั้งในกลุ่ม Deep Tech และนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศไทยมีศักยภาพ  หากทำได้สำเร็จเศรษฐกิจไทยก็จะสามารถเจริญเติบโตขึ้นด้วยนวัตกรรม  และสตาร์ทอัพเหล่านี้  เหมือนที่เห็นในหลายประเทศที่มีรายได้มากมายจากการนำเอาสตาร์ทอัพมาต่อยอดให้เกิดเป็นธุรกิจขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี  ความคืบหน้าของบริษัท  อินโนสเปลซนั้น จะมีการร่วมตกลงกันอีกรอบหนึ่งระหว่างภาคเอกชนที่จะมาลงทุนถือหุ้นในบริษัท  โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมสัญญาร่วมทุน  และเตรียมการที่จะเพิ่มทุนของบริษัท  ซึ่งปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนอยู่ 1 แสนบาท  โดยตั้งใจว่าจะเริ่มในระดับ 500 ล้านบาทขึ้นไปสำหรับการระดมทุน   โดยทุนที่ระดมได้จะมีเป้าหมายสนับสนุนประเทศเป็นหลักในการส่งเสริมสตาร์ทอัพไม่ได้หวังผลตอบแทนทางการเงิน  เพราะฉะนั้นการลงทุนนี้จะไม่มีการปันผลออกไปให้กับผู้ลงทุน  แต่จะเป็นการนำเม็ดเงินนี้มาสร้างระบบนิเวศน์  มาสร้างแพลตฟอร์ม  สร้างโครงสร้างพื้นฐานในการที่จะเอื้อให้สตาร์ทอัพไทยสามารถจะพัฒนาความเข้มแข็ง   พัฒนาความสามารถในการแข่งขัน  และได้รับการโค้ชชิ่งที่ดี  เพื่อพัฒนาต่อเป็นธุรกิจได้อย่างจริงจัง 

หลังจากนั้นก็จะนำเงินส่วนดังกล่าวนี้  มาจัดตั้งองค์กรขึ้นมาแบบชัดเจน  มีการสรรหาผู้บริหาร โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง  ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่เคยทำธุรกิจสตาร์ทอัพ  และประสบความสำเร็จสามารถที่จะสร้างธุรกิจออกมาจากนวัตกรรมได้จริงมาเป็นหัวแรงในการที่จะขับเคลื่อนบริษัท  เพื่อที่จะโค้ชสตาร์ทอัพใหม่ๆของไทย อย่างไรก็ดี  ปัจจุบันบริษัทได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว  โดยมี กสอ.เป็นกำลังหลักในการช่วยสนับสนุนทางด้านบุคลากร สถานที่อุปกรณ์ต่างๆ และพันธมิตรที่มาร่วมลงนามวันนี้ได้ส่งบุคคลากรเข้ามาทำงานร่วมด้วย

ยอดระดมทุนตั้งอินโนสเปซไทยแลนด์พุ่ง 640ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม  จากความร่วมมือที่ได้ลงนามไปกับฮ่องกงไซเบอร์พอร์ท  จะมีการจัดเซ็กชั่นที่เป็นพิชชิ่งของสตาร์ทอัพใหญ่ของฮ่องกงในเดือนพฤศจิกายน  บริษัทจะมีการคัดเลือกสตาร์ทอัพที่เหมาะสมในประเทศเพื่อไปร่วมกิจกรรม  นอกจากนี้  บริษัทยังได้เริ่มเจรจากับประเทศเกาหลี  และอิสราเอล  เพื่อดำเนินการในลักษณะที่คล้ายกัน  เพราะฉะนั้นต่อไปจะเริ่มเห็นสังคม  หรือคอมมูนิตี้ของสตาร์ทอัพ  โดยจะมีการบูรณาการกันมากขึ้น