บินไทยแก้หนังสือเชิญชวน  ปลดล็อก‘แอร์บัส’ ลงทุนอู่ตะเภา

14 มิ.ย. 2562 | 10:00 น.

ล่าสุดคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO: Maintenance, Repair and Overhaul) เฟส 1 พื้นที่กว่า 200 ไร่ สนามบินอู่ตะเภา ได้ประชุมเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562 รับทราบและเห็นชอบแนวทางการแก้ไข RFI : Request For Information ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)ในการเชิญชวนบริษัทแอร์บัส เอส.เอ.เอส. เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งเป็นไปตามการหารือร่วมกันระหว่างแอร์บัส การบินไทย และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 ที่ได้มาตกลงร่วมกัน เพื่อแก้ไขหนังสือเชิญชวน RFI ให้ยืดหยุ่นต่อการลงทุนที่จะเกิดขึ้น

หลังจากก่อนหน้านี้แอร์บัส ได้แสดงความกังวล ต่อหนังสือเชิญชวน (RFI) ซึ่งที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของการบินไทยเป็นผู้ร่างขึ้นมา ว่าเป็นการผูกมัดกับทางแอร์บัสมากเกินไป ส่งผลให้ที่ผ่านมาแอร์บัสจึงยังไม่ได้ยื่นเสนอในการลงทุนต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ แม้ครม.จะมีมติตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2561 เห็นชอบให้การบินไทย เชิญชวนแอร์บัส มายื่นข้อเสนอตามกระบวนการคัดเลือกเอกชนลงทุน MRO อู่ตะเภาเฟส 1 เพียงรายเดียว โดยไม่ใช้วิธีการประมูล

แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกันแล้วว่า โครงการMRO อู่ตะเภา ที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นการเชิญชวนแอร์บัสให้เข้ามาร่วมลงทุน เพื่อเช่าพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา สัญญา 50 ปี พัฒนาศูนย์ซ่อมระดับเวิลด์คลาสร่วมกับการบินไทย ที่จะเป็นการยกระดับธุรกิจศูนย์ซ่อมของไทยไปสู่ระดับโลกรวมถึงการถ่ายทอดโนว์ฮาวที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของการให้สัมปทานหรือการเปิดประมูล เหมือนโครงการอื่นๆ ในอีอีซี

บินไทยแก้หนังสือเชิญชวน   ปลดล็อก‘แอร์บัส’  ลงทุนอู่ตะเภา

โดยโครงการนี้แม้ภาครัฐโดยกองทัพเรือ (ทร.) จะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ที่ 6.3 พันล้านบาท แต่แอร์บัสและการบินไทยก็ต้องลงทุนรวมกันอยู่ที่ 4 พันล้านบาท และทั้งแอร์บัสและการบินไทย ก็จะต้องจ่ายค่าเช่า ซึ่งจะต้องมีการเจรจา เพื่อให้รัฐได้กำไรจากการลงทุนที่เกิดขึ้น

 

         

ดังนั้นหนังสือเชิญชวนก่อนหน้านี้ มีการใส่รายละเอียดมากมายเฉพาะเจาะจง ถึง 500 หน้า ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าเช่าที่ลงรายละเอียดเป็นรายเดือน การยื่นหลักประกันสัญญา การกำหนดกระทั่งการซ่อมบำรุงอากาศยาน 70 เที่ยวบินต่อวัน เป็นต้น ซึ่งเป็นการเขียนเหมือนแอร์บัส เข้ามาประมูลโครงการนี้ก็คงไม่ใช่ เพราะขั้นตอนขณะนี้เป็นเพียงการทำหนังสือเชิญชวนมาร่วมลงทุนเท่านั้น และหลังการร่วมทุน การกำหนดค่าเช่าเท่าไหร่ และจะจ่ายแบบใด ก็เป็นสิ่งที่ต้องมีการเจรจากันอยู่แล้ว ภายใต้สัญญาที่จะเกิดขึ้นระหว่างบริษัทร่วมทุนระหว่างแอร์บัสและการบินไทยที่จะต้องจัดตั้งขึ้นมาเป็นสเต็ปต่อไป ในสัดส่วน 50:50 ซึ่งจะมาเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ

บินไทยแก้หนังสือเชิญชวน   ปลดล็อก‘แอร์บัส’  ลงทุนอู่ตะเภา

อีกทั้งแอร์บัส ยังมองว่าหากยอมรับเงื่อนไขที่ละเอียดเกินไป ก็ยังเป็นการข้ามขั้นตอน และทำให้มีปัญหา ในการแข่งขันทางธุรกิจ เพราะในรายละเอียดต่างๆ ที่เป็น เงื่อนไข ก็จะต้องผ่านการพิจารณาจากบอร์ดของบริษัทร่วมทุนที่จะจัดตั้งขึ้นในอันดับต่อไป เพื่อเข้ามาดำเนินธุรกิจดังกล่าว ซึ่งแอร์บัสเป็นบริษัทระดับโลก การลงทุนต่างๆ ต้องมีความชัดเจนในการเจรจาก่อนลงนามหรือยื่นเสนอตัว ไม่ใช่เร่งให้มาร่วมทุนโดยที่ยังเจรจาไม่จบ

อย่างไรก็ตามไทม์ไลน์จากนี้ทางการบินไทยและแอร์บัส คาดหวังว่าภายในเดือนกันยายนนี้หรือไม่เกินสิ้นปีนี้ แอร์บัส จะมายื่นข้อเสนอตามกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน MRO คู่ขนานไปกับการตั้งบริษัทร่วมลงทุน ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อมาเซ็นสัญญาร่วมกัน และเดินหน้าลงทุนร่วมกันต่อไป ซึ่งตามแผน MRO นี้จะเปิดให้บริการในปี 2565 เนื่องจากขณะนี้กองทัพเรือก็อยู่ระหว่างของบประมาณในการสร้างโรงซ่อมอากาศยาน  (Hangar) ที่ต้องใช้เวลาไม่ตํ่ากว่า 3 ปีในการก่อสร้าง ส่วนการลงทุนของแอร์บัสและการบินไทย ก็จะเป็นการลงทุนในเรื่องของอุปกรณ์และเครื่องมือในการให้บริการ MRO ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะสร้างรายได้ราว 3 พันล้านบาทต่อปีภายในปีที่ 10 ของการให้บริการ และจะเพิ่มเป็น 2.2 หมื่นล้านบาทในปีสุดท้ายของสัญญาเช่า คือ ปีที่ 50 โดยให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องบิน ทั้งแอร์บัสและโบอิ้ง

ด้านนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการ MRO ที่สนามบินอู่ตะเภา ยังคงเดินหน้าต่อ ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งที่ผ่านมาทั้งการบินไทยและแอร์บัส ก็มีการหารือร่วมกันเพื่อคลายข้อกังวล ทำให้โครงการเดินต่อไปได้ ซึ่งตามกระบวนการในการลงทุนเรื่องนี้ ยังมีเวลาอีกหลายปี ไม่จำเป็นต้องรีบเร่ง เพราะต้องรอการสร้างโรงซ่อมอากาศยานของภาครัฐ ที่ต้องใช้เวลาพอสมควรในการก่อสร้าง 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,478 วันที่ 13 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2562

บินไทยแก้หนังสือเชิญชวน   ปลดล็อก‘แอร์บัส’  ลงทุนอู่ตะเภา