ดันประกันภัยพืชผล-ปศุสัตว์ ดึงเอกชนช่วยรับภาระ-ลดเยียวยากว่า 2 หมื่นล.ต่อปี

16 มิ.ย. 2562 | 08:25 น.

 

 

สศก.เล็งดึงบริษัทเอกชนประกันภัยพืชเกษตรปศุสัตว์ยกเข่ง หวังเบี้ยประกันถูก ช่วยลดภาระงบประมาณรัฐจ่ายเยียวยาเกษตรกรกว่า 2 หมื่นล้านต่อปี เผยผลเจรจาคืบหน้า ชี้จุดดีไม่ต้องรอความเสียหาย 80% ถึงจ่ายได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถา ในงานเสวนาการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าของประเทศ ฤดูฝน ปี พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ตอนหนึ่งระบุว่า ได้จัดตั้ง 3 เสาหลัก ในการบริหารทรัพยากรนํ้าให้มีประสิทธิภาพ อย่างมั่นคง ยั่งยืน ได้แก่ พระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. 2561 (มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ม.ค.62) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า 20 ปี และการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานหลักด้านนโยบายในการบริหารจัดการนํ้าของประเทศ เพื่อลดความเสียหายจากภัยแล้ง นํ้าท่วมลดลง โดยงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยานํ้าท่วม-ภัยแล้ง ในรอบ 11 ปี ลดลงเหลือ 1.85 หมื่นล้านบาท จากสูงสุดในปี 2554 กว่า 8.9 หมื่นล้านบาท(กราฟิกประกอบ)

ดันประกันภัยพืชผล-ปศุสัตว์  ดึงเอกชนช่วยรับภาระ-ลดเยียวยากว่า 2 หมื่นล.ต่อปี

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปประกันภัยการเกษตร ซึ่งปัจจุบันมีโครงการภาครัฐที่ดำเนินการในสินค้าเกษตรเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ประกันภัยข้าวนาปี ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีประกันภัยที่ดำเนินการโดยบริษัทประกันภัยกับเกษตรกรโดยตรง เช่น ทุเรียน รวมไปถึงหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เริ่มมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการประกันภัยสินค้าชนิดอื่นๆ เช่น โคนม มันสำปะหลัง กุ้ง เป็นต้น

ดันประกันภัยพืชผล-ปศุสัตว์  ดึงเอกชนช่วยรับภาระ-ลดเยียวยากว่า 2 หมื่นล.ต่อปี

                                            จริยา  สุทธิไชยา

สำหรับการชดเชยและการให้ความช่วยเหลือ ในรูปการประกันภัยพืชผล เป็นการคุ้มครองความเสียหายหรือสูญเสียต่อพืชผลที่เอาประกันภัย อันเกิดจากภัยธรรมชาติตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ โดยอาจกำหนดให้คุ้มครองภัยทุกชนิด หรืออาจกำหนดให้คุ้มครองจากภัยพิบัติบางอย่างโดยเฉพาะ เช่น นํ้าท่วม ภัยแล้ง ลมพายุ ลูกเห็บตก เป็นต้น ขึ้นอยู่กับพื้นที่และชนิดของพืชที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแตกต่างกัน

 

ทั้งนี้การประกันภัยพืชผลจะกำหนดระยะเวลาคุ้มครองไว้ล่วงหน้า โดยระยะเวลาคุ้มครองนี้จะตรงกับช่วงระยะเวลาเพาะปลูกของพืชแต่ละชนิด ดังนั้นการทำประกันภัยจึงต้องทำก่อนเริ่มระยะเวลาเพาะปลูกของพืชแต่ละชนิด จะเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่ใช้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือเกษตรกรในการจัดระบบการเงิน เพื่อคุ้มครองต้นทุนการผลิตเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ คุ้มครองปริมาณผลผลิตที่ลดตํ่าลง และคุ้มครองราคาผลผลิตที่ผันผวน ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพทางรายได้และความมั่นคงในอาชีพให้แก่เกษตรกร

 

ดันประกันภัยพืชผล-ปศุสัตว์  ดึงเอกชนช่วยรับภาระ-ลดเยียวยากว่า 2 หมื่นล.ต่อปี

ดันประกันภัยพืชผล-ปศุสัตว์  ดึงเอกชนช่วยรับภาระ-ลดเยียวยากว่า 2 หมื่นล.ต่อปี

 

“สศก.กำลังเจรจาและหารือกับ คปภ.กับ ธ.ก.ส. เพราะเมื่อพิจารณาดูสถิติความเสียหายจากภัยพิบัติที่รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยเยียวยาในแต่ละปีไม่ตํ่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ถ้ามีบริษัทประกันภัยมาช่วย จะทำให้เกษตรกรได้เงินเร็วขึ้น ในสัดส่วนความเสียหายจ่ายแบบรายแปลง อาจจะต้องจ้างบริษัทเซเวเยอร์ตรวจสอบ (บริษัทกลาง) หรือใช้บริษัทประกันภัยเข้าไปตรวจสอบ โดยกำหนดสัดส่วนความเสียหายที่ต้องจ่าย ไม่จำเป็นต้องรอความเสียหายถึง 80% ถึงจะใช้งบประมาณรัฐชดเชยความเสียหายได้ ดังนั้นต้องพัฒนาระบบการตรวจสอบพื้นที่เสียหายซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะยากหน่อยต้องใช้เวลาหลายปี”

 

ส่วนทางเลือกที่ 2 คือ ประเมินความเสียหายตามรายแปลง ต้องให้เกษตรกรสมัครใจเข้ามาทำประกันภัยโดยไปประเมินจ่ายรายแปลง อาจจะไม่ต้องมีการประกาศ แต่อาจจะต้องเสียค่ารถจักรยานยนต์เข้าไปตรวจสอบ อยากให้คิดแค่ 2 ทางเลือกก่อน โดย ธ.ก.ส.จะเป็นตัวกลางคุยกับบริษัทประกันภัย หากดึงทุกพืช ทุกสินค้าปศุสัตว์เข้าร่วมโครงการจะส่งผลทำให้เบี้ยประกันถูกลง ที่สำคัญช่วยลดภาระงบประมาณรัฐ ทั้งนี้เมื่อมีการปรับเปลี่ยนระบบการให้ความช่วยเหลือในระบบเดิมเข้าสู่ระบบประกันภัย ควรยกเลิกการให้ความช่วยเหลือเยียวยาในระบบเดิมเพื่อไม่ให้เกิดความซํ้าซ้อน 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 39 ฉบับ 3,479 วันที่ 16-19 มิถุนายน 2562

ดันประกันภัยพืชผล-ปศุสัตว์  ดึงเอกชนช่วยรับภาระ-ลดเยียวยากว่า 2 หมื่นล.ต่อปี