ทบทวนแผน ‘พีดีพี’ ฉบับใหม่

15 มิ.ย. 2562 | 12:08 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3479 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 16-19 มิ.ย.2562

 

ทบทวนแผน

‘พีดีพี’ ฉบับใหม่

 

          กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มีนายสุวัฒน์ กมลพนัส เป็นประธาน เตรียมเข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ เพื่อขอให้ทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือพีดีพีฉบับใหม่ ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการมองว่าพีดีพีฉบับนี้ ผิดเพี้ยนไปจากฉบับเดิมๆ ที่เคยทำกันมาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการมุ่งให้โรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างใหม่ หันไปพึ่งการใช้ก๊าซธรรมชาติเกือบจะทั้งหมด ไม่กระจายความเสี่ยงไปให้เชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ

          ส.อ.ท.ยังเห็นว่าการส่งเสริมพลังงานทดแทนที่บรรจุอยู่ในแผน 20,766 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 1 หมื่นเมกะวัตต์ ภายในปี 2580 แม้จะมีความเหมาะสม แต่การให้ความสำคัญกับการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านหรือโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ยาก ส่วนการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ก็ควรจะมีการทบทวนให้ผู้ผลิตได้รับการอุดหนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐ เพราะการนำเศษวัสดุ ทางการเกษตรมาใช้ผลิตไฟฟ้าจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในแผนพีดีพีมีการบรรจุกำลังการผลิตไว้น้อยมากเพียง 1,485 เมกะวัตต์ เท่านั้น

 

          ที่สำคัญยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าแผนพีดีพีฉบับใหม่ที่กพช.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 ให้อำนาจเต็มกับคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน พิจารณาแนวทางการจัดหาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผนพีดีพี โดยที่ไม่ต้องนำกลับมาเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบ อาจเป็นช่องโหว่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานชี้ขาดโครงการลงทุน

          เราเห็นว่าผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ควรเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทบทวนแผนพีดีพีอีกครั้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า เพราะต้องไม่ลืมว่าการลงทุนโรงไฟฟ้ามีผลกระทบต่อราคาค่าไฟ และปากท้องของประชาชนโดยตรง การตัดสินใจต่างๆจึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ไม่ควรปล่อยให้กบง. ซึ่งเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองคณะเล็กมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตัดสินในเรื่องนโยบายระดับประเทศ