ความคิดพินิจ ประชาธิปไตยไทย (6)

20 มิ.ย. 2562 | 13:11 น.

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3480 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 20-22 มิ.ย.2562 โดย ประพันธุ์ คูณมี

 

ความคิดพินิจ

ประชาธิปไตยไทย (6)

 

                การสร้างประชาธิปไตยต้องสร้างจากกฎเกณฑ์ทั่วไป แต่ก็ต้องคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของประเทศด้วย เช่น กรณีของสหรัฐอเมริกาที่สร้างประชาธิปไตยได้สำเร็จ ก็บนความเคารพความเจาะจงของสังคมอเมริกาที่เป็นการปกครองตนเอง (Self-Government) ส่วนอังกฤษสร้างประชาธิปไตยขึ้นบนลักษณะเฉพาะของอังกฤษ ที่เป็นลักษณะอำนาจแบบบนลงล่าง (Top-down) โดยสถาบันกษัตริย์เป็นผู้มอบความชอบธรรมให้กับประชาชนและชนชั้นนำทางการเมือง

                นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงทำงานนำระบบราชการและพร้อมไปกับระบบราชการด้วย ทำให้หัวใจข้าราชการไทยทั้งทหารและพลเรือนนั้น อยู่ที่พระมหากษัตริย์ ปฏิบัติงานภายใต้พระบารมีของรัชกาลที่ 9 และในนามข้าราชการของพระองค์ มีพระองค์เป็นที่ยึดเหนี่ยวและเป็นแบบอย่าง ในการทำงานเพื่อประชาชน

                สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นพลังทางศีลธรรม (Moral Authority) ของสังคม รัชกาลที่ 9 ทรงใช้ “ราชประศาสนศาสตร์” ในการบริหารบ้านเมือง รวมถึงการประกอบพระราชกรณียกิจในเรื่องการต่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทรงนำการทำงานของระบบราชการด้วยในความเป็นจริง ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินและการแก้ปัญหาต่างๆ ของบ้านเมือง เดินตามวิสัยทัศน์ของพระองค์ไม่น้อย

                โดยเฉพาะในเรื่องที่ไม่มีรัฐบาลใดหรือผู้ใดทำได้ หรือในเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการด้วยความต่อเนื่องยาวนาน รัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงได้โดยสมบูรณ์ เพราะเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จะทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน แนวทางการทำงานราชประศาสนศาสตร์ของรัชกาลที่ 9 กับระบบราชการ เช่น ในเรื่องการจัดระบบชลประทาน การแก้ปัญหานํ้าท่วม การแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน การยกเลิกการปลูกฝิ่น การฟื้นฟูป่าชายเลน การฟื้นฟูโบราณสถานทั่วประเทศ และการนำชาวไทยภูเขาให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรภายใต้พระบรมโพธิสมภารเดียวกัน เป็นต้น

                การทำงานของระบบราชการที่นำโดยพระราชดำริ หรือพระราโชบายของพระมหากษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในสถาบันจะทำได้ดี รวดเร็วและเกิดผลที่ยั่งยืน

                มาถึงขณะนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้ครองแผ่นดินและดำเนินพระราชกรณียกิจในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับพระราชบิดา รัชกาลที่ 9 ในหลายเรื่อง

ประชาธิปไตยและปรมิตตาญาสิทธิราชย์

                ดังนั้นสำหรับประเทศไทย ประชาธิปไตยที่สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี จำเป็นต้องเดินเคียงข้างกับปรมิตตาญาสิทธิราชย์ (Limited Monarchy) ที่อยู่เหนือการเมือง ความชอบธรรมทางการเมืองของไทยนั้น อิงอยู่กับระบอบปรมิตตาญาสิทธิราชย์ ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์ (Absolute Monarchy) ประชาธิปไตยของไทยสามารถเดินไปได้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะไม่ใช่ระบอบกษัตริย์ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง และการบริหารบ้านเมืองไปทุกเรื่อง

                จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ได้แก่ การมีพระราชโองการของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในกลางคืนของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา นับเป็นการรักษาสถานะของปรมิตตาญาสิทธิราชย์ ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมือง และไม่ทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของสถาบันพระมหากษัตริย์ ลงมายุ่งเกี่ยวหรือเป็นฝักฝ่ายในทางการเมือง

                สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมือง และไม่เป็นฝักฝ่ายในทางการเมือง แต่ในยามวิกฤติของชาติ คนไทยก็ควรขอรับพระบรมราชวินิจฉัย และพระราชดำริมาเป็นหลักชัย ในการแก้ปัญหาของประเทศชาติ ที่ผ่านมาสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีบทเรียนมายาวนาน ในการติดตามเข้าใจจิตใจและความรู้สึกของประชาชนและสังคมไทยไม่น้อยกว่าสถาบันใดๆ

                ชนชั้นนำของไทย โดยเฉพาะชนชั้นนำจากปี 2490 เป็นต้นไป เป็นนักปฏิบัตินิยม (Pragmatism) เป็นผู้พิจารณาสภาวะความเป็นจริงของประเทศ ไม่ยึดติดตำราหรืออุดมการณ์เกินไป เล็งผลสำเร็จจากการปฏิบัติทางการเมือง และการบริหารประเทศ โดยเห็นตรงกันว่า ระบอบการปกครองแบบมีสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับสังคมไทย เพราะได้เล็งเห็นความยิ่งใหญ่ของสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบารมีจากประวัติศาสตร์ในอดีต ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย แต่พวกเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นอุดมการณ์สากล เป็นการปกครองที่ดีของตะวันตก จึงเห็นว่าประเทศไทยต้องมีระบอบการปกครองที่ผสมผสานทั้ง 2 ระบอบนี้เข้าด้วยกัน

 

ความขัดแย้งในปัจจุบัน

                ความคิดเกี่ยวกับเรื่องประชา ธิปไตยของประเทศไทย ในระยะหลังกระทั่งปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 มุมมองหลักที่มีจุดเน้นและให้ความสำคัญต่างกัน แต่ยึดถือระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน คือ

                1.กลุ่มที่เน้นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและชัยชนะในการเลือกตั้ง ไม่ต้องการให้พระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวทางการเมือง (กลุ่มคนเสื้อแดง)

                และ 2.กลุ่มที่คำนึงถึงคุณภาพของประชาธิปไตย การเป็นประชาธิป ไตยที่ไม่ฉ้อฉล ไม่คอร์รัปชัน เป็นธรรมาธิปไตยและคำนึงถึงการตรวจสอบถ่วงดุลได้ร่วมด้วย นอกจากนั้น กลุ่มนี้ยังยอมรับการนำของสถาบันหลักของชาติ ต้องนำเอาพระบรมราโชวาทและพระบรมราชวินิจฉัย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักชัยในการแก้ปัญหาบ้านเมือง และพัฒนาประเทศร่วมด้วย (กลุ่มคนเสื้อเหลือง)

                ความคิดแบบที่ 2 นี้ อาจไม่เข้ากับความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบตะวันตกนัก แต่เป็นความคิดที่อยู่บนรากฐานทางวัฒนธรรมของสังคมไทย