ลุ้น!เจรจาลงตัวก่อนอนุสัญญา C188 บังคับใช้ 14 พ.ย.

20 มิ.ย. 2562 | 13:50 น.

เปิดปมร้อน 14 ข้อเร่งแก้ไขก่อนอนุสัญญา ซี 188 บังคับใช้ 14 พ.ย. ระดมหน่วยงานคลายปลดล็อค เพิ่มคุ้มครองสิทธิแรงงานสุขภาพ ประกันสังคม ความปลอดภัยในการทำงาน วิน-วินนายจ้าง-ต่างด้าว

 

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ผลการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย  14 ข้อ กระทรวงแรงงานได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคประมง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 พร้อมได้ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน คือ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 โดยกำหนดให้มีการคุ้มครองแรงงานประมงให้ได้รับสิทธิด้านสุขภาพ ประกันสังคม และความปลอดภัยในการทำงาน

 

ทั้งนี้เพื่อให้การอนุวัติการตามอนุสัญญาฯบรรลุผลสำเร็จและสามารถแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กองยุทธศาสตร์และแผนงาน ได้จัดทำแผนการดำเนินงานรองรับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 โดยมีกิจกรรมสำคัญ อาทิ การออกกฎหมายลำดับรอง/แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง การสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การตรวจบังคับใช้กฎหมาย และการรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งกองยุทธศาสตร์และแผนงานได้จัดประชุมติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีความคืบหน้าดังนี้

 

ประเด็น 1 การส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนและการเรียนเงินคืนจากกองทุนฯกรณีลูกจ้างอยู่อยู่ไม่ครบ 1 ปี

หน่วยงานรับผิดชอบ    สำนักงานประกันสังคม แนวทางแก้ไข ให้การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ เก็บจากเจ้าของเรือฝ่ายเดียวปีละ 1 ครั้ง โดยคำนวณจากค่าจ่างที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างทุกคนรวมทั้งปี x อัตราเงินสมทบของกิจการประมง 0.2% ทั้งนี้กรณีแรงงานประมงทำงานไม่ครบปี สามารถขอเงินสมทบฯคืนได้

 

 

ประเด็นที่ 2 การเปิดโอกาสให้สามารถซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขควบคู่กับประกันของภาคเอกชนทดแทนการเข้าอยู่ในระบบของประกันสังคม

หน่วยงานรับผิดชอบ สำนักงานประกันสังคม แนวทางแก้ไข สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างการยกร่าง ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการต่างๆ  ซึ่งออกตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในเรือประมง พ.ศ. 2562  โดยกำหนดแนวทางไว้ดังนี้

1.กรณีเจ็บป่วยกำหนดให้ซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข

2.กรณีเงินทดแทนการขาดรายได้จากการทำงาน ตาย และทุพพลภาพ สามารถเลือกได้ 2 ประเภท คือ 1.เลือกเข้าระบบประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เหมาะสมและ 2.เลือกซื้อกรมธรรม์ โดยสำนักงานประกันสังคมได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เรียบร้อยแล้ว โดย คปภ.ได้รับหลักการและอยู่ระหว่างคำนวณอัตราเบี้ยประกัน ตลอดจนพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ที่จะระบุไว้ไหนกรมธรรม์

 

3.นิยาม “เรือประมงที่ทำการประมงไว้เพื่อการค้า” ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเรือประมงพื้นบ้านจะต้องถูกบังคับใช้ตามกฎหมายด้วยหรือไม่

หน่วยงานรับผิดชอบ กรมประมง แนวทางแก้ไข กรมประมงอยู่ระหว่างการยกร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดขนาดเรือ หรือจำนวนแรงงานประมงที่ไม่อยู่ในบังคับตรามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมง ซึ่งออกตามความในมาตรา 5(4) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 โดยกรมประมงจะพิจารณายกเว้นไม่บังคับใช้กับเรือที่มีขนาดน้อยกว่า 10 ตันกรอส หรือเรือที่มีการจ้างแรงงานน้อยกว่า 5 คนซึ่งเป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมาย

 

4.แนวทางและประเภทเรือที่ต้องขอใบรับรองการตรวจสภาพเรือ

หน่วยงานรับผิดชอบ กรมเจ้าท่า แนวทางแก้ไข กรมเจ้าท่าอยุ่ระหว่างการยกร่างประกาศกรมเจ้าท่า เรื่องใบรับรองแรงงานประมง ซึ่งออกตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการตรวจสภาพการทำงาน สวัสดิการในการทำงาน ความปลอดภัยสุขอนามัย และความเป็นอยู่แรงงานประมง ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 โดยบังคับใช้กันเรือที่อยู่ในทะเลเกิน 3 วัน และมีความยาวตลอดลำเรือ 26.5 เมตรขึ้นไป หรือเรือที่อยู่ในทะเลเกิน 3 วันและเดินเรือไปนอกน่านน้ำไทย

 

 

5.การจัดที่พักอาศัยบนเรือประมงมีผลบังคับใช้กับเรือขนาดและประเภทใดบ้าง

หน่วยงานรับผิดชอบ : กรมเจ้าท่า แนวทางแก้ไขกล่าวคือกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างยกร่างข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่พักอาศัยบนเรือประมง พ.ศ. .... ซึ่งออกตามความในมาตรา 163/ 1 มาตรา 163 (1) (2) แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 โดยบังคับใช้กับเรือประมงใหม่ และเก่า ซึ่งดัดแปลงเป็นส่วนใหญ่ ที่มีขนาดตั้งแต่ 300 ตันกรอสขึ้นไป

 

6.ความเหมาะสมเกี่ยวกับปริมาณ/คุณภาพของอาหารและเครื่องดื่ม

 หน่วยงานรับผิดชอบ : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แนวทางแก้ไข : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอยู่ระหว่างยกร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. .... โดยยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับอาหารและน้ำดื่มในกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ.  2557 เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกฎหมายของกรมประมงและกรมเจ้าท่า สำหรับประเด็นความเหมาะสมเกี่ยวกับปริมาณ/คุณภาพของอาหารและเครื่องดื่ม คือ จะต้องมีปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอ ตามสภาพ และวิถีการออกทำการประมงของไทย

 

ลุ้น!เจรจาลงตัวก่อนอนุสัญญา C188 บังคับใช้ 14 พ.ย.

7.การเปิดโอกาสให้บุคคลอายุ 16 ปีขึ้นไป ฝึกงานในเรือประมงได้ หน่วยงานรับผิดชอบ : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แนวทางแก้ไข : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอยู่ระหว่างยกร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ....  โดยอนุญาตให้บุคคลที่มีสัญชาติไทยที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 16ปี ฝึกงานในเรือประมงได้

8.การนำเข้าแรงงานตาม MOU ใช้เวลานาน และเป็นภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างฝ่ายเดียว ทำให้แรงงานต่างด้าวไม่มีความรับผิดชอบ มักหลบหนีไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่

หน่วยงานรับผิดชอบ : กรมการจัดหางาน

แนวทางแก้ไข : บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวอย่างเคร่งครัด พร้อมกำหนดแนวปฏิบัติในการป้องกันแรงงานต่างด้าวหลบหนีไปทำงานกับนายจ้างรายอื่น โดยให้มีระบบการเปลี่ยนนายจ้าง สำหรับการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในกิจการประมงทะเล กรมการจัดหางาน อยู่ระหว่างหารือกับประเทศต้นทางอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งรัดดำเนินการนำเข้าแรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าว

 

9.การตรวจสุขภาพ ไม่เห็นด้วยหากกระทรวงสาธารณสุขจะเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มในการตรวจสอบสายตาและการได้ยิน

หน่วยงานรับผิดชอบ : กรมการแพทย์

แนวทางแก้ไข : กรมการแพทย์ อยู่ระหว่างจัดทำแนวปฏิบัติในการออกใบรับรองแพทย์ ซึ่งออกตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 โดยยึดแนวทางการดำเนินงานตามหลักการเดิมที่ให้ไว้ คือ ดำเนินการตรวจหูและตาเพิ่มเติม โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม (๕๐๐ บาท เท่าเดิม) สำหรับใบรับรองแพทย์เดิม (การตรวจสุขภาพ 5โรค : วัณโรค ซิฟิลิส โรคเท้าช้าง สารเสพติด โรคเรื้อน) สามารถใช้ได้จนกว่าจะหมดอายุ

 

10.การนับชั่วโมงพักไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานบนเรือประมง โดยศูนย์ PIPO บางแห่ง มีการตรวจนับชั่วโมงพักยาวติดต่อกัน 10 ชั่วโมง

หน่วยงานรับผิดชอบ : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

แนวทางแก้ไข : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อยู่ระหว่างยกร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. .... โดยกำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานบนเรือประมงในทะเลเกินกว่า 3 วัน มีเวลาพักไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมงในระยะเวลาทำงาน 24  ชั่วโมง และไม่น้อยกว่า 77 ชั่วโมง ในระยะเวลาการทำงาน 7 วัน

 

11.ขอให้แก้ไขความซ้ำซ้อนของกฎหมายเกี่ยวกับบัญชีรายชื่อลูกเรือ

หน่วยงานรับผิดชอบ : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

แนวทางแก้ไข : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อยู่ระหว่างยกร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. .... โดยยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับบัญชีรายชื่อลูกเรือประมง เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกฎหมายของกรมประมงและกรมเจ้าท่า

 

 

12.การกำหนดอัตรากำลังตามขนาดเรือไม่ชัดเจน และปัญหาจำนวนลูกเรือไม่ครบ ตามที่แจ้ง Port Out ทำให้ไม่สามารถออกทำการประมงได้

หน่วยงานรับผิดชอบ : กรมเจ้าท่า

แนวทางแก้ไข : กรมเจ้าท่า อยู่ระหว่างแก้ไขร่างข้อบังคับกรมเจ้าท่าตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456  และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อกำหนดมาตรฐานคนประจำเรือและแรงงานประมง ตลอดจนกำหนดอัตรากำลังสูงสุดที่เหมาะสมกับการทำประมงตามประเภทเครื่องมือประมง โดยได้นำกรอบอัตรากำลังแรงงานประมงตามประเภทเครื่องมือของกรมประมง และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยมาประกอบการพิจารณาแก้ไขร่างข้อบังคับ สำหรับการแก้ไขปัญหาจำนวนลูกเรือไม่ครบ ตามที่แจ้ง Port Out เจ้าของเรือประมงสามารถแจ้งผ่านระบบออนไลน์ ก่อนออกทำการประมงอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

 

13.เงื่อนไขการส่งตัวแรงงานกลับประเทศต้นทาง นายจ้างไม่ควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะกรณีที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายผิด

หน่วยงานรับผิดชอบ : กรมการจัดหางาน และกรมการกงสุล

แนวทางแก้ไข : กรมการจัดหางาน และกรมการกงสุล อยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำแนวปฏิบัติในการส่งแรงงานประมงกลับจากต่างประเทศ ตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 ซึ่งกรณีแรงงานประมงเป็นฝ่ายผิดสัญญา หรือยกเลิกสัญญาเอง หรือไม่มีเหตุอันควร หรือนายจ้างไม่ได้เป็นฝ่ายผิด แรงงานประมงจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่งกลับ

 

14.ปัญหาการจ่ายค่าจ้างผ่านบัญชีธนาคาร/ตู้ATM สร้างภาระให้กับนายจ้าง/ลูกจ้าง เสนอให้แก้ไขกฎหมายให้สามารถจ่ายเป็นเงินสดและค่าใช้จ่ายล่วงหน้าได้

หน่วยงานรับผิดชอบ : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

แนวทางแก้ไข : ข้อเรียกร้องของสมาคมประมงที่ให้จ่ายเป็นเงินสดและค่าใช้จ่ายล่วงหน้า ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้ เนื่องจากมาตรการจ่ายเงินผ่านบัญชีธนาคาร เป็นนโยบายสำคัญที่ทำให้ทุกภาคส่วนเชื่อมั่นได้ว่า ลูกจ้างได้รับค่าจ้างตรงเวลาและตามที่กฎหมายกำหนด