วอนรัฐหนุนสตาร์ตอัพเว้นภาษีระดมทุน

25 มิ.ย. 2562 | 10:05 น.

ซีอีโอเทคซอส วอนรัฐแก้กฎ หมายยกเว้นภาษีระดมทุน หวังผลักดันสตาร์ตอัพไทยที่มีศักยภาพ ช่วยลดภาวะสมองไหล พร้อมดึงนักลงทุนเข้าประเทศ เผยควรให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้กำหนดนโยบายด้านดิจิทัล

นางสาวอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด เปิดเผยว่าขณะนี้สตาร์ตอัพไทยที่เปิดเผยมูลค่าการระดมทุนมีประมาณกว่า 100 บริษัท จากจำนวนสตาร์ตอัพทั้งหมดกว่า 800 บริษัท ซึ่งบางรายอาจเลือกที่จะไม่ระดมทุนหรืออาจยังระดมทุนไม่ได้ แต่แนวโน้มของสตาร์ตอัพไทยนั้นเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจากที่เห็นในโครงการ ดีแทค แอคเซอเลอเรท เมื่อราว 2-3 ปีก่อน จะเห็นว่ามีสตาร์ตอัพรายใหม่ที่เข้าร่วมโครงการหลายราย ที่คุณภาพอาจจะยังไม่ได้ แต่ในปัจจุบันสตาร์ตอัพที่มีคุณภาพมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาทิ สตาร์ตอัพสายสุขภาพ (Health Tech) จากกระแสเรื่องของเฮลธ์แคร์ที่เข้ามา สตาร์ตอัพด้านอาหารหรือการเกษตร อะไรที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของประเทศ ก็เริ่มจะมีคนพยายามเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา ขณะที่สตาร์ตอัพด้านฟินเทคถือว่าเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายเพราะมีเรื่องของกฎระเบียบข้อบังคับเข้ามาเกี่ยวข้องโดยกระบวนการต่างๆ ต้องใช้ระยะเวลา ทั้งนี้ในปี 2011-2018 ยอดการระดมทุนของสตาร์ตอัพนั้นอยู่ที่ราว 337 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

วอนรัฐหนุนสตาร์ตอัพเว้นภาษีระดมทุน

 

ขณะที่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาภาครัฐเองต่างก็มีความตื่นตัวในการสนับสนุนสตาร์ตอัพด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย แต่ในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุน อย่างเรื่องภาษีกำไรจากเงินลงทุน (Capital Gains Tax) ที่สตาร์ตอัพจะต้องชำระเมื่อมีการระดมทุนจากนักลงทุน ซึ่งภาษีดังกล่าวในประเทศสิงคโปร์สามารถยกเว้นได้โดยที่ไม่ต้องชำระ จากกฎระเบียบนี้ทำให้สตาร์ตอัพไทยเมื่อต้องการระดมทุนในยอดที่สูงจึงต้องไประดมทุนในต่างประเทศอย่างสิงคโปร์หรือฮ่องกงเพราะมีกฎหมายที่เอื้อกว่าจึงกลายเป็นเหมือนสมองไหล หากภาครัฐเข้ามาแก้ไขในเรื่องกฎระเบียบได้ ก็จะทำให้สตาร์ตอัพไทยไม่จำเป็นต้องวิ่งไประดมทุนที่ต่างประเทศ อีกทั้งเรื่องของการขยายธุรกิจไปในระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สตาร์ตอัพยังติดกับดักตรงที่ไทยเป็นประเทศขนาดไม่เล็กแต่ก็ไม่ใหญ่มาก ทำให้สตาร์ตอัพหลายรายคิดว่าขยายธุรกิจแค่ในประเทศน่าจะเพียงพอ จึงไม่ได้คิดถึงการขยายธุรกิจไปในระดับภูมิภาค และติดอยู่ที่การระดมทุนในรอบซีด (Seed Round) รวมถึงไม่ได้เตรียมตัวสำหรับขยายการระดมทุนไปในระดับ ซีรีส์ A ซึ่งทำให้นักลงทุนไม่กล้าลงทุนเพราะมองว่าธุรกิจไม่สามารถขยายไปยังตลาดต่างประเทศได้ ดังนั้นโอกาสที่สตาร์ตอัพไทยจะได้รับการระดมทุนในระดับสูงขึ้นจึงมีน้อยมาก

 

นางสาวอรนุช กล่าวต่อไปอีกว่าสตาร์ตอัพ จะเติบโตได้จำเป็นต้องทำงานร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่ที่กำลังค้นหาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) มาช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จากองค์กรใหญ่และองค์กรเล็กร่วมกัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามา ทำให้มีเงินไหลเวียนภายในประเทศ ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ ถ้าไม่กระตุ้นให้มีสตาร์ตอัพในไทย นักลงทุนด้านเทคโนโลยีจะไม่เข้ามา ไทยก็จะยังไม่เข้าสู่อุตสาหกรรมที่เป็นดิจิทัล ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือสตาร์ตอัพและองค์กรขนาดใหญ่จะต้องร่วมมือกัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องของอีโคซิสเต็มในประเทศไทยนั้นยังขาดคนเก่ง ที่จะเข้ามาทำงาน ซึ่งโปรแกรมเมอร์หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลยังไม่ยากเท่ากับวิศวกรด้านข้อมูล (Data Engineer) เพื่อออกแบบโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลและนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม คนเหล่านี้พอจบก็จะไปทำงานบริษัทใหญ่ที่ค่าตอบแทนสูง รวมถึงเรื่องของระบบการศึกษาไทยที่ยังไม่ได้สอนให้เด็กคิดได้ด้วยตนเอง แต่มักมีกรอบให้คิดตาม 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3481 ระหว่างวันที่ 23-26 มิถุนายน 2562