คนข้างตัวเป็นพิษ

24 มิ.ย. 2562 | 03:48 น.

ความเสี่ยงทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกับคู่แข่ง หรือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและลูกค้าที่ว่ายากแล้วสำหรับธุรกิจครอบครัวยังมีความเสี่ยงจากคู่สมรสของตนอาจเป็นภัยก็ได้ ทั้งนี้การหย่าร้างไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากสถิติเกือบครึ่งหนึ่งของการแต่งงานครั้งแรกสิ้นสุดกันในศาล นอกจากนี้มีโอกาสสูงขึ้นไปอีกในการแต่งงานครั้งที่ 2 และ3 โดยคู่สมรสที่เป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัวอาจจะอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่อายุยังน้อยและธุรกิจอาจมีมูลค่าไม่มากนัก ซึ่งเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นในอีกหลายปีต่อมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความมั่งคั่งเกือบทั้งหมดของทั้งคู่จะอยู่ในธุรกิจ แต่ความมั่งคั่งส่วนบุคคลมีน้อย

เมื่อต้องหย่าร้างกันจึงมักไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเงินสดเพียงพอที่จะซื้อหุ้นส่วนของอีกฝ่ายได้ นั่นอาจหมายถึงธุรกิจจะต้องถูกขายหรือรับภาระหนี้จำนวนมาก ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นคนสร้างและบริหารงานมาโดยตลอด ดังนั้นการปกป้องธุรกิจครอบครัวจากผลของการหย่าร้างจึงมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของธุรกิจอย่างยิ่ง และสำหรับคู่สมรสหลายๆ คู่ธุรกิจคือทรัพย์สินส่วนตัวทั้งหมด สำหรับการป้องกันปัญหา “คนข้างตัวเป็นพิษ” ลองพิจารณาวิธีการต่อไปนี้

การทำสัญญาข้อตกลงก่อนการสมรส (prenup: prenuptial agreement) วิธีการนี้คนไทยอาจไม่ค่อยคุ้นเคย และแน่นอนว่าหากเริ่มต้นทำธุรกิจก่อนแต่งงานย่อมสามารถลงนามในสัญญาข้อตกลงก่อนการสมรสที่ระบุว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทหากมีการหย่าร้างได้ โดยเอกสารจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรและดำเนินการโดยสมัครใจต่อหน้าพยาน และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลธุรกิจอย่างถูกต้อง ก่อนแต่งงานจะเป็นเวลาที่ดีที่สุดในการทำข้อตกลงซื้อขายเพื่อปกป้องการล่มสลายของธุรกิจครอบครัวจากการหย่าร้าง ซึ่งการซื้อขายเป็นสัญญาระหว่างเจ้าของร่วมธุรกิจที่จะเข้าควบคุมกิจการหากเจ้าของร่วมอีกฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตหรือถูกบังคับหรือเลือกที่จะออกจากธุรกิจไป โดยข้อตกลงการซื้อขายที่ดีจะต้องให้อดีตคู่สมรสขายผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับ คืนให้กับเจ้าของบริษัทในราคาที่กำหนดโดยวิธีการประเมินที่ระบุไว้

 

ใช้ทรัสต์ (trust) ในการจัดการความมั่งคั่ง สำหรับธุรกิจที่มีความมั่งคั่งพอสมควรและต้องการปกป้องทรัพย์สินของธุรกิจครอบครัวในระยะยาว ทรัสต์เป็นเครื่องมือที่ดีและป้องกันปัญหาการหย่าร้างได้ เช่น พ่อให้ของขวัญกับลูกสาวเป็นหุ้นในธุรกิจครอบครัวมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยใส่เข้าไปในทรัสต์ที่ให้เธอเป็นผู้รับผลประโยชน์เท่านั้น ซึ่งหากเธอแต่งงานและหย่าร้างในภายหลัง คู่สมรสของเธอจะไม่สามารถแตะต้องเงินนี้ได้ตราบใดที่ยังเป็นหุ้นของขวัญหรือรายได้จากการขายหุ้นยังคงอยู่ภายในทรัสต์ เสียดายที่ประเทศไทยยกเลิกกฎหมายทรัสต์ไป จึงต้องไปจัดตั้งทรัสต์ที่ต่างประเทศ แต่ปัจจุบันก็ทำได้ไม่ยากนัก

คนข้างตัวเป็นพิษ

อยู่ด้วยกันต่อไป อย่างน้อยก็ในธุรกิจ บางทีวิธีที่ดีที่สุดและง่ายที่สุดในการจัดโครงสร้างธุรกิจกรณีเกิดการหย่าร้าง ก็คือการที่คู่สมรสจะยังคงเป็นเจ้าของร่วมต่อไปแม้ว่าจะหย่ากันแล้วก็ตาม น่าเสียดายที่กลยุทธ์นี้ใช้ไม่ได้กับคู่สมรส หลายๆ คู่ โดยเฉพาะคู่ที่มีการต่อสู้ทางอารมณ์หรือทางกฎหมายอย่างดุเดือด หากจะใช้แนวทางนี้ควรทำข้อตกลงกับผู้ถือหุ้นในการให้สิทธิแก่คู่สมรสในการซื้อส่วนของอีกฝ่ายในราคาที่ตกลงร่วมกันไว้ ต้องตระหนักว่าการซื้อผลประโยชน์ของคู่สมรสในธุรกิจต้องมีการประเมินมูลค่าของธุรกิจเป็นอันดับแรกซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและมีราคาแพงมาก อาจจะใช้ธุรกิจกู้เงินมาชำระค่าหุ้นให้กับคู่สมรสที่จะไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอีกต่อไป อีกทางเลือกหนึ่งคือออกตั๋วสัญญาใช้เงินในการแบ่งทรัพย์สิน (property settlement note) ซึ่งเป็นเงินกู้ระยะยาวเพื่อจ่ายผลประโยชน์ตามจำนวนที่เป็นหนี้แก่อดีตคู่สมรสตามส่วนแบ่งธุรกิจของเขาหรือเธอ แต่หากธุรกิจมีหนี้สินจำนวนมากอาจหาผู้ถือหุ้นรายใหม่

 

ท้ายที่สุดแล้วการขายธุรกิจและการแบ่งผลกำไรกันเป็นวิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุด และข้อดีอย่างหนึ่งคือหากขายธุรกิจได้เร็วทั้งคู่จะมีเงินไปใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์ของตนเองเร็วเช่นกัน นอกจากนี้การขายธุรกิจยังทำให้สามารถหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ทางการเงินกับคู่สมรสเดิมได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วบริษัทก็ไม่ได้ขายง่าย ดังนั้นอดีตคู่สมรสอาจต้องทำงานด้วยกันต่อไปอีกเป็นเวลาหลายเดือนเลยทีเดียว 

ที่มา : Marketwatch. 2017. How to protect your family business during a divorce. Outside the Box. Available: https://www.marketwatch.com/story/how-to-protect-your-family-business-during-a-divorce-2017-02-10

ข้อมูลเพิ่มเติม : www.famz.co.th

คอลัมน์ :  ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุลคณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ([email protected])

หน้า 31 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3481 ระหว่างวันที่ 23-26 มิถุนายน 2562