ผู้นำธุรกิจอาเซียนหนุนนวัตกรรม ย้ำเทคโนโลยีช่วยจุดพลุอุตสาหกรรม 4.0

22 มิ.ย. 2562 | 12:46 น.

ท่ามกลางสัปดาห์แห่งการตื่นตัวเกี่ยวกับการพัฒนาในทุกมิติของอาเซียน เนื่องจากระหว่างวันที่ 22-23 มิ.ย. 2562 มีกำหนดการประชุมระดับผู้นำรัฐบาล หรือ อาเซียนซัมมิทครั้งที่ 34 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ในส่วนของภาคธุรกิจก็มีกิจกรรมสำคัญที่ให้มุมมองในหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับพลวัตรของอาเซียนและผลกระทบจากปัจจัยต่างๆทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค นั่นคือ การประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียนครั้งที่ 5 จัดโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ภายใต้ชื่อ Bloomberg ASEAN Business Summit เป็นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนทัศนะมุมมองของบุคคลระดับผู้นำในแวดวงธุรกิจและองค์กรภาครัฐในภูมิภาคอาเซียน

 

หนึ่งในประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมของอาเซียน คือทำอย่างไรจึงจะสามารถยกระดับภาคอุตสาหกรรมการผลิตของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังคงเป็นแหล่งสร้างงานและสร้างโอกาสใหม่ๆให้กับตลาดแรงงานในภูมิภาคเพื่อให้สอดรับการกระแสการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่ยุค Industry 4.0 ซึ่งเป็นเทรนด์ระดับโลก

ผู้นำธุรกิจอาเซียนหนุนนวัตกรรม ย้ำเทคโนโลยีช่วยจุดพลุอุตสาหกรรม 4.0

ในเวทีเสวนาหัวข้อ Moving Up the Chain นายนาวีน เมนอน ประธานประจำภูมิภาคอาเซียนของซิสโก้ (Cisco Asean) ซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความพร้อมของภูมิภาคอาเซียนในการปรับตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ให้ข้อมูลว่า เมื่อเร็วๆนี้ เขาเพิ่งได้พบเห็นสิ่งที่เรียกว่า Social Robot เป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ทำให้ตระหนักว่าปัจจุบันนั้น 5 เทคโนโลยีหลักๆ ของยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้มารวมกันอยู่ในนวัตกรรมชิ้นนี้แล้ว (นาดีนเป็นหุ่นยนต์พนักงานต้อนรับที่ทำหลายสิ่งหลายอย่างได้ เป็นผลงานการวิจัยของศจ.นาเดีย ธอลแมน) โดยหลักๆ เลยก็คือ เทคโนโลยีด้านเอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ ผนวกเข้ากับ เทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือจักรกลอัตโนมัติ (automation) รวมทั้ง การพิมพ์ 3 มิติ (3D printing) ขณะที่ เทคโนโลยีด้าน IoT หรือ Internet of Things ก็เป็นแกนสำคัญที่ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน และ เทคโนโลยีอัจฉริยะที่สวมใส่ได้ ทั้ง 5 เทคโนโลยีดังกล่าวได้มาถึงแล้วและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตในยุค 4.0 “เราจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาอย่างหลากหลายซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากเทคโนโลยีหลักๆ ทั้ง 5 นี้”

 

นาวีน เมนอน

ผู้เชี่ยวชาญจากซิสโก้กล่าวว่า เทคโนโลยีกำลังเข้ามายกระดับอุตสาหกรรมการผลิตในภูมิภาคอาเซียน ก่อนหน้านี้เขาเคยทำงานวิจัยศึกษาความพร้อมของภูมิภาคอาเซียนในการปรับตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และพบว่า ไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศ ร่วมกับสิงคโปร์ มาเลเซีย ที่จะกลายเป็นกลุ่มผู้นำของอาเซียน ในการก้าวไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่จะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นในปีนี้

 

 “อุตสาหกรรมการผลิตของอาเซียนมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก  การทำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตโดยรวมราว 670,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นมากกว่านี้สู่ระดับล้านล้านในช่วง 8 ปีข้างหน้า และไม่น่าเชื่อว่าในโลกตะวันตกเช่นยุโรป ซึ่งค่าจ้างแรงงานสูงมากจนทำให้มีการโยกย้ายฐานการผลิตออกไปสู่ภูมิภาคอื่นๆที่ต้นทุนถูกกว่า แต่เมื่อไม่นานมานี้ เทคโนโลยีจักรกลอัตโนมัติได้ทำให้บริษัทยุโรปอย่างอาดิดาส สามารถเปิดโรงงานอีกครั้งในประเทศเยอรมนี เป็นโรงงานแรกที่เปิดในรอบ 30 กว่าปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะค่าแรงถูกลงแต่เป็นเพราะเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เขานำมาใช้มันช่วยให้การตั้งโรงงานที่นั่น (เยอรมนี) กลับมาเป็นไปได้และคุ้มค่าการลงทุนอีกครั้ง หันกลับมามองอาเซียน ผมอยากจะเรียกร้องให้ผู้นำ 10 ชาติ หันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของอาเซียนด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหล่านี้มาใช้ยกระดับอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ การลงทุนในเทคโนโลยีไม่เพียงเป็นการสร้างการจ้างงานให้กับประชากรอาเซียนแต่ยังเปิดโอกาสใหม่ๆให้กับภาคอุตสาหกรรมของอาเซียนด้วย

  ชาติศิริ โสภณพนิช

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  ร่วมให้มุมมองแนวคิดในประเด็นนี้ว่า เขาเห็นผู้ประกอบการซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารจำนวนมากที่เปิดรับนำนวัตกรรมหุ่นยนต์และจักรกลอัตโนมัติมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานยากๆและใช้เวลานาน ซึ่งในอดีตอาจต้องใช้เวลาเป็นวันๆ แต่เมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ก็สามารถลดเวลาการทำงานอย่างเดียวกันนั้นให้เหลือเพียงไม่กี่นาที  เขามองว่า ไม่ว่าบริษัทเล็กหรือใหญ่ก็มาถึงช่วงเวลาที่ต้องเปิดใจรับเทคโนโลยีแล้ว โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นเอสเอ็มอี หรือธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อม สามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัตโนมัติและเอไอ มาช่วยพัฒนาสินค้าที่ดีขึ้นและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ เขายังเห็นว่า การนำสื่อโซเชียลมีเดียมาใช้ยังสามารถช่วยธุรกิจขนาดเล็กในการเข้าถึงตลาดที่กว้างไกลกว่าเดิมและใช้ในการโปรโมตแบรนด์ไปได้ทั่วโลกโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมอะไรมากนัก “ผมเชื่อว่าเราจะเห็นแนวโน้มการนำเทคโนโลยีใหม่ๆที่นำสมัยมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต”

 

ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพฯ ยังยกตัวอย่างถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในวงการค้าปลีกเช่นระบบการชำระเงินที่ทันสมัยและสะดวกมากขึ้น ทำให้ผู้คนทั่วไปรวมทั้งภาคธุรกิจสามารถใช้ระบบชำระเงินอิเล็กทรอกนิกส์ที่รวดเร็วและสะดวกสบาย ไม่ต้องใช้เงินสด เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้การค้าการขายตลอดจนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ มีการขยายตัวขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างเช่น ธุรกิจบริการขนส่งพัสดุหรือโลจิสติกส์ พลอยเติบโตขึ้นด้วยอย่างก้าวกระโดด เป็นเทรนด์ที่เห็นได้ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน

 

ฮุย หลิน

เกี่ยวกับประเด็นโลจิสติกส์นั้น นางฮุย หลิน ประธานภาคพื้นเอเชีย บริษัทเฟล็กซ์พอร์ท กล่าวเสริมว่า เป็นเรื่องจริงที่การนำเทคโนโลยีมาใช้สามารถยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพของทั้งระบบซัพพลายเชน  ยกตัวอย่างเช่น การนำเทคโนโลยีการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ ช่วยให้ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์สามารถใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่มาช่วยประกอบการตัดสินใจ นำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้นและแม่นยำมากขึ้น เทคโนโลยีการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก การวิเคราะห์ระดับสูง ภายในระยะเวลาที่สั้นลงมากเมื่อเทียบกับในอดีต ทำให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ฉับไวมากขึ้นหรือทันต่อสถานการณ์มากขึ้น

 

แน่นอนว่าในกระบวนการนำเทคโนโลยีมาใช้นั้น นอกจากการลงทุนในด้านระบบฮาร์ดแวร์-ซอฟท์แวร์แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการลงทุนในด้านบุคลากร ซึ่งภาคอุตสาหกรรมของอาเซียนจะต้องลงทุนในด้านการเตรียมความพร้อมบุคลากร เพิ่มทักษะที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ให้กับพนักงานที่มีอยู่ และขณะเดียวกันก็ต้องเสริมทักษะเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วย จากสถิติของซิสโก้พบว่า เอไอและระบบหุ่นยนต์-จักรกลอัตโนมัติเป็นเทคโนโลยีที่อาจจะส่งผลกระทบต่อ 28 ล้านตำแหน่งงานในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจุบันตลาดแรงงานของอเซียนมีขนาดราว 275 ล้านคน “ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาทำให้คนเหล่านี้ตกงาน แต่หมายความว่า 28 ล้านตำแหน่งงานเหล่านี้ ไม่สามารถที่จะทำงานแบบเดิมๆอีกต่อไป จะต้องมีการให้การฝึกอบรมเพิ่มทักษะใหม่ๆ (reskill & retrain) ให้กับพวกเขา เพื่อสามารถตอบโจทย์การทำงานในบริบทใหม่ๆที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยง”  นาวีน เมนอน ผู้บริหารของซิสโก้กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากจะลงทุนในด้านการเสริมทักษะใหม่ให้กับบุคลากรแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการของอาเซียนควรลงทุนเพื่อรับมือกับอุตสาหกรรม 4.0 คือ การลงทุนเพิ่มระบบป้องกันภัยของข้อมูลในโลกไซเบอร์ เนื่องจากขณะที่การเชื่อมโยงระบบเข้าถึงกัน หรือ connectivity เป็นเรื่องที่ดีและสร้างประโยชน์ๆได้มาก แต่ในเวลาเดียวกัน หากระบบไม่มีความปลอดภัยก็จะสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจได้มากเช่นกัน