สัญญาณดอกเบี้ยต้องชัดเจน

23 มิ.ย. 2562 | 13:46 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3481 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 23-26 มิ.ย.2562

 

สัญญาณดอกเบี้ย

ต้องชัดเจน

                การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4 ของปี 2562 ในวันที่ 26 มิถุนายน 2562 สำนักวิจัยเศรษฐกิจทุกสำนักฟันธงว่า กนง.จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเสถียรภาพของระบบการเงินเป็นประเด็นที่ กนง. น่าจะยังคงให้น้ำหนักในการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงนี้ โดยเฉพาะการปรับขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนที่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 1/2562 และเป็นการเร่งตัวขึ้น 3 ไตรมาสติดต่อกัน

                ขณะที่แนวโน้มของคุณภาพหนี้เริ่มมีสัญญาณถดถอยลง ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลให้ กนง. ยังมีความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงินและคงติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยเร่งความเปราะบางต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น

                อย่างไรก็ตามคงต้องยอมรับว่าขณะนี้ปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศปรับเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากค่าเงินบาทและเงินสกุลกลุ่มประเทศเกิดใหม่ผันผวนสูง โดยค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี เคลื่อนไหวต่ำกว่า 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่แนวโน้มธนาคารกลางของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรปต่างออกมาส่งสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ และเตรียมที่จะดำเนินมาตรการQE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจกำลังเพิ่มขึ้น

                ธนาคารแห่งประเทศไทย ยอมรับว่าปัจจัยภายนอกในขณะนี้ยังคาดการณ์ได้ยาก แต่จะส่งผลให้ค่าเงินสกุลประเทศเกิดใหม่ผันผวนได้ต่อเนื่อง ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินของกนง.นับจากนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากกนง.ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ก็จะทำให้ค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีก ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออก เครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจที่กำลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ในทางกลับกันถ้าปรับลดดอกเบี้ยก็อาจจะกระทบกับเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม การตัดสินใจใดๆ ของกนง.จึงต้องประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน ที่สำคัญควรส่งสัญญาณให้ชัดเจน เพื่อให้ภาคเอกชนวางแผนรับมือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง