ธพว. ชี้ Innovation Bazaar จับคู่ธุรกิจสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์กว่า 300 ล.

25 มิ.ย. 2562 | 04:18 น.

ธพว.เผยการจัดงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและมอ.นำเสนองานวิจัยสู่ผู้ประกอบการสร้างการจับคู่ธุรกิจได้  62 รายงาน  ระบุต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้กว่า 300 ล้านบาท

ธพว. ชี้ Innovation Bazaar จับคู่ธุรกิจสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์กว่า 300 ล.

                นายพงชาญ  สำเภาเงิน  รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.)หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า จากการจัดงาน  PSUxSME-D Bank InnovationBazaar  ที่ผ่านมาโดยกระทรวงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.)และSME D Bank ได้เกิดการจับคู่ธุรกิจระหว่างภาคอุตสาหกรรม/เอกชน  หรือผู้ที่สนใจนวัตกรรมเพื่อการทำธุรกิจ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวน37 บริษัท รวมทั้งสิ้น 62ผลงานวิจัยคิดเป็นมูลค่าในการเจรจาธุรกิจสูงกว่า 30 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์เบื้องต้นคิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาทโดยมีผู้เข้าชมงานช้อปสินค้าผลงานวิจัยครั้งนี้คับคั่งกว่า 300 ราย

                ทั้งนี้  ตัวอย่างผลงานวิจัยที่ได้รับความสนใจเจรจาเพื่อจับคู่ธุรกิจภายในงาน ได้แก่ 1.โพรไบโอติกส์เพื่อใช้ป้องกันฟันผุ ซึ่งเป็นผลงานของ ศ.ดร.รวี เถียรไพศาล และ และผศ.ดร.ทพญ. สุพัชรินทร์ พิวัฒน์ คณะทันตแพทยศาสตร์ ที่สามารถนำไปเตรียมเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิ นมผง เม็ดอม เจลลี่กัมมี่ และน้ำยาบ้วนปาก เป็นต้น ซึ่งก่อนหน้านี้ผลงานดังกล่าวได้มีผู้ขอใช้อนุญาตไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์แล้วหลายบริษัท

,2.การบำบัดน้ำเสียจากแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนโดยกระบวนการทางชีวภาพ ซึ่งเป็นผลงานของ ผศ. ดร.ชลธี ชีวะเศรษฐธรรม และ ผศ.ดร.วิไลรัตน์ ชีวะเศรษฐธรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียโดยเน้นวิธีการทางชีวภาพใช้สาหร่ายและไรแดงเข้ามาช่วยในการบำบัด ทำให้ลดต้นทุนค่าไฟในการบำบัดน้ำ (ด้วยระบบตีน้ำ) ได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีบริษัทผลิตหมอนยางพารา ได้นำระบบดังกล่าวไปใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ธพว. ชี้ Innovation Bazaar จับคู่ธุรกิจสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์กว่า 300 ล.

                ,3.กระบวนการสกัดน้ำตาลคิวบราซิทอล (Quebrachitol) จากซีรั่มน้ำยางพารา ซึ่งเป็นผลงานของ ผศ.ดร.วิไลรัตน์ ชีวะเศรษฐธรรม โดยปกติในอุตสาหกรรมยางพาราจะทิ้งซีรั่มยางพาราลงสู่บ่อบำบัดน้ำทิ้งโดยเปล่าประโยชน์แต่งานวิจัยนี้คือการหาวิธีการแยกน้ำตาลคิวบราซิทอลออกจากซีรั่มยางพาราซึ่งน้ำตาลคิวบราซิทอลบริสุทธิ์ทั่วไปนั้นจะมีราคาที่สูงมาก เนื่องจากใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ยาชนิดต่างๆ โดยเฉพาะยาต้านมะเร็ง โดย 1 กรัม มีราคาประมาณ 1,000 บาท โดยน้ำตาลชนิดนี้เป็นน้ำตาลที่ทดแทนการให้ความหวานจากน้ำตาลปกติได้ แต่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ จึงเหมาะกับผู้ที่มีปัญหากับการบริโภคน้ำตาล เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย

                ,4.สารสกัดไพลที่มีสารกลุ่มฟีนิลบิวทานอยด์และสูตรแผ่นแปะแก้ปวดจากสารสกัดจากไพลที่ใช้สารเมือกจากเมล็ดแมงลักเป็นสารก่อฟิล์ม ซึ่งเป็นผลงานของ รศ.ดร.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ คณะเภสัชศาสตร์ เป็นผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการรักษาหรือบรรเทาอาการปวดรูปแบบใหม่จากสกัดไพลให้มีสารในกลุ่มฟีนิลบิวทานอยด์สูงและสารสกัดจากเมล็ดแมงลัก ที่เตรียมด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

และ5.ซาโมเนลลาแบคเทอริโอเฟจสำหรับป้องกันและฆ่าเชื้อซาโมเนลลาในสัตว์ปีกและสุกร ซึ่งเป็นผลงานของ ผศ.ดร.กิติญา วงษ์คำจันทร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นงานวิจัยด้าน Food Safety ผลงานหนึ่ง โดยผลิตภัณฑ์ซาโมเนลลาแบคเทอริโอเฟจนี้จะอยู่ในรูปแบบ Encapsulate แปรรูปในรูปแบบผง เป็นสารชีวภาพ ที่ยับยั้งและทำลายเชื้อSalmonella ในสัตว์ปีกและสุกร นำไปสู่อาหารที่มีความปลอดภัยสูง

ธพว. ชี้ Innovation Bazaar จับคู่ธุรกิจสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์กว่า 300 ล.

                อย่างไรก็ตาม  นอกจากการพูดคุยเจรจาธุรกิจในส่วนของการขอใช้สิทธิในผลงานวิจัย/ทรัพย์สินทางปัญญาของทาง ม.อ.แล้ว  ยังมีการพูดคุยถึงประเด็นร้อนที่สุดในยุคนี้ คือการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ ระหว่างภาคเอกชน/ภาคอุตสาหกรรม ร่วมกับผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์และตัวแทนจากคณะเภสัชศาสตร์ ม.อ. ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับทางมหาวิทยาลัยฯ จะเป็นหน่วยงานวิจัยหนึ่งในประเทศที่จะสนับสนุนการทำวิจัยกัญชาทางการแพทย์ให้แก่ภาคเอกชน/ภาคอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมและความสนใจในงานวิจัยด้านนี้อีกด้วย