การเตรียมความพร้อม เข้าสู่สังคม AI

26 มิ.ย. 2562 | 04:35 น.

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า AI คืออะไร

Artificial Intelligence หรือ AI (ปัญญาประดิษฐ์) คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ถูกสร้างให้มีความฉลาดและสามารถคิดได้คล้ายมนุษย์

แล้ว AI เหมือนหรือต่างกับ Robot (หุ่นยนต์) อย่างไร

เป็นเรื่องที่คนสับสนกันเยอะ จริงๆแล้ว ถ้าจะให้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่ออธิบาย จะขอมองว่า AI เปรียบเหมือนสมอง ส่วน Robot เปรียบเหมือนร่างกาย (Body)

โดยสาขาวิชา AI จะเน้นการสร้างวิธีที่ทำให้สมอง (ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นนี้) มีความฉลาดขึ้น เพื่อให้สามารถคิดและสั่งการงานที่ซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้น โดยความรู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนา AI จะเป็นความรู้ด้าน Computer Science โดยปกติแล้ว AI (หรือสมอง) นี้อาจจะมีร่างกาย (Body) หรือไม่มีร่างกายก็ได้

ตัวอย่างของ AI (ที่ไม่มีร่างกาย) ก็เช่น AlphaGo & AlphaGo Zero, Facebook’s Facial Recognition System (ระบบ Tag รูปเพื่อนๆ อัตโนมัติใน Facebook), Apple Siri (ผู้ช่วยพูดได้ในโทรศัพท์มือถือ iPhone), Chatbot ต่างๆ ฯลฯ

ส่วนตัวอย่างของ AI (ที่มีร่างกาย) ก็เช่น หุ่นยนต์ดูแลคนแก่, หุ่นยนต์ที่เคลื่อนไหวพูดจาโต้ตอบได้, รถยนต์ไร้คนขับ

ส่วนสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับ Robot จะเน้นการสร้างวิธีที่ทำให้ร่างกาย (ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นนี้) สามารถเคลื่อนไหวได้หลากหลายตอบโจทย์ความต้องการของผู้สร้างได้มากขึ้น โดยความรู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนา Robot จะเป็นความรู้ด้าน Mechanical Engineering

โดยในยุคแรกๆ Robot ก็เคลื่อนไหวได้จำกัด แต่ในยุคต่อๆ มาการเคลื่อนไหวก็ทำได้ยืดหยุ่นและหลากหลายมากขึ้น แต่การเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็ต้องอาศัยสมองที่ฉลาดขึ้นด้วย โดยในยุคหลังๆ ก็ได้มีการนำเอา AI เข้ามาใช้พัฒนาเป็นสมองของ Robot ซึ่งสมองและร่างกายต้องทำงานสอดคล้องกัน

 

การเตรียมความพร้อม  เข้าสู่สังคม AI

ทำอย่างไรมนุษย์จึงจะมีความพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมที่มี AI อยู่แพร่หลายทั่วไป

จริงๆ แล้วทุกวันนี้ AI อยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์อยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย เช่น AI ผู้ช่วยพูดได้ในโทรศัพท์มือถือ, AI ช่วยแปลภาษา, AI ที่เป็นสมองของหุ่นยนต์ดูแลคนแก่ ฯลฯ ในด้านนี้จึงไม่น่ามีอะไรน่ากังวล

แต่อย่างไรก็ดีทางด้านแรงงาน ผู้คนมีความกังวลต่อเนื่องเรื่อยมาว่า AI จะมาแย่งงานมนุษย์ ซึ่งแน่นอนว่ามนุษย์ควรจะต้องปรับตัวและตื่นตัว เพื่อจะพัฒนาทักษะของตนเองอยู่เสมอๆ ตลอดจนหาทางที่จะทำงานร่วมกับ AI หรือมองหาโอกาสงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

เพราะ AI สำหรับแรงงาน High-Skilled คงไม่น่าเป็นห่วงมากเพราะสามารถเป็นผู้พัฒนา AI หรือใช้งาน AI ได้ง่าย ผู้ที่น่าห่วงน่าจะเป็นแรงงาน Low-Skilled ที่อาจจะช่วยตัวเองได้ยากกว่า และอาจต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ

นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องของการนำ AI มาใช้ละเมิดความเป็นส่วนตัวของมนุษย์ เช่น กรณีการติดกล้องในสถานที่ทั่วไปและใช้ระบบ AI มา Detect ว่าเราเป็นใคร ทำให้สามารถรู้ได้ว่าวันหนึ่งๆ ใครทำอะไรที่ไหนบ้าง โดยหากภาครัฐเป็นเจ้าของและเป็นผู้ติดตั้งระบบ ก็จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลพฤติกรรมต่างๆ กับข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ที่รัฐมีเก็บไว้ได้ด้วย

เป็นที่น่าสนใจว่าปัจจุบันมนุษย์ก็มีความพยายามที่จะปรับตัวเพื่อไม่ให้ถูก AI เอาเปรียบหรือระรานได้ เช่น งานวิจัยของ Simen Thys, Wiebe Van Ranst, and Toon Goedeme (2019) ได้เสนอว่าหากเราเอาป้ายที่มีสีสันบางอย่างมาคล้องคอไว้ ก็อาจ สามารถหลอกระบบกล้องที่ติดตั้ง AI ได้ เพื่อไม่ให้มันจับได้ว่าเราเป็นคน (ถ้ามันไม่ทราบว่าเราเป็นคน มันก็จะหาต่อไม่ได้ว่าเราเป็นใคร)

หรือบางครั้งมนุษย์ก็ปรับตัวเพื่อหลอก AI เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์มากขึ้น เช่น มีข่าวว่าคนขับรถ Uber กับ Lyft ในประเทศอเมริกา ใกล้สนามบินบางแห่ง บางครั้งพร้อมใจกันปิด Application Uber กับ Lyft บางช่วงเวลา เพื่อหลอก AI ในระบบว่าช่วงนี้ผู้ให้บริการขับรถมีน้อย เพื่อให้ระบบปรับราคาค่าโดยสารขึ้นก่อน จากนั้นคนขับจึงเปิด Application ขึ้นมาใหม่

พัฒนาการของ AI และการปรับตัวของผู้ได้รับผลกระทบจาก AI คงจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เป็นที่น่าจับตาดูว่าอนาคตที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่ๆ นี้จะหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆคือผู้ที่จะอยู่รอดได้คือผู้ที่ตื่นตัวกับความเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะพัฒนาทักษะของตนเองอยู่เสมอๆ

References

เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู และ วรประภา นาควัชระ (2019) “บทบาทของการค้าและเทคโนโลยีต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างตลาดแรงงานของไทยสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

• Simen Thys, Wiebe Van Ranst, and Toon Goedeme (2019). Fooling Automated Surveillance Cameras: Adversarial Patches to Attack Person Detection.

• https://www.technologyreview.com/f/613409/how-to-hide-from-the-ai-surveillance-state-with-a-color-printout/

• https://wjla.com/news/local/uber-and-lyft-drivers-fares-at-reagan-national

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.วรประภา นาควัชระ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3482 วันที่ 27-29 มิถุนายน 2562

การเตรียมความพร้อม  เข้าสู่สังคม AI