การกลับมาของ‘วาทกรรม’ ปลุกสังคมแตกแยก

26 มิ.ย. 2562 | 09:30 น.

คุณผู้อ่านรู้สึกเหมือนผมไหมครับ เวลาอ่านข่าวการเมืองในเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊ก เมื่อท่านกดไปอ่านการแสดงความคิดเห็นในข่าวนั้นๆ เรามักจะเจอกับการคอมเมนต์ที่ใช้ถ้อยคำรุนแรง ใช้ภาษาที่หยาบคาย อย่างชนิดที่สงสัยเลยว่าไปสรรหาคำด่าเหล่านั้นมาจากไหน

ที่เปิดแบบนี้เพราะมีโอกาสไปคุยกับนักวิชาการอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์และนิเทศศาสตร์หลายท่าน พูดตรงกันว่า “วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง” หรือ Hate speech กำลังเป็นปัญหาที่ “หวนกลับมา” สู่สังคมไทยนับจากปี 2553 ที่มีการใช้วาทกรรมแบบนี้จนนำไปสู่เหตุเผาบ้านเผาเมืองมาแล้ว

และรอบนี้มันค่อยๆ แทรกซึมมากับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างที่เราอาจจะไม่ทันระวังและมองไม่ออก เพราะ “วาทกรรมนั้น” มาแบบเนียนๆ จึงอยากให้คุณผู้อ่านรู้เท่าทันในสิ่งที่ท่านนักการเมืองผู้ทรงเกียรติบางท่าน หรือกลุ่มคนการเมืองบางคน นำวาทกรรม Hate speech มาใช้

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ก็อย่างเช่นคำว่า ไพร่ กับ อำมาตย์ ที่เคยใช้มาแล้ว และล่าสุดก็คงเป็นคำว่า “ประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการ” ฝ่ายหนึ่งบอกว่าฝ่ายตัวเองเป็น “ประชาธิปไตย” สนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยแบบที่ประเทศเจริญแล้วเขาใช้กัน แต่เอาเข้าจริงฝ่ายประชาธิปไตยที่อ้างตัวมานั้น เมื่อมีคนเห็นต่างทางการเมือง กลับไปชี้หน้าว่าคุณเป็นพวกสนับสนุนเผด็จการ บลาๆ อะไรก็ว่ากันไป เถียงกันไม่จบ

การกลับมาของ‘วาทกรรม’  ปลุกสังคมแตกแยก

บังเอิญผมได้ฟังมุมมองปัญหานี้จาก ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าเคยมีงานวิจัย ปี 2553 ซึ่งอยู่ในช่วงเคลื่อนไหวทางการเมือง พบว่าเกิด HATE SPEECH เรื่องการเมืองค่อนข้างชัดเจน เป็นการใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคม สร้างความเกลียดชังบนฐานอัตลักษณ์ร่วม ตีประเด็นทำให้รู้สึกดูถูก ดูหมิ่น ดูแคลน หรือตีตราเหมือนบุคคลนั้นไม่ได้เป็นสมาชิกที่ไม่พึงประสงค์ของสังคม

โดยองค์ประกอบสำคัญของ HATE SPEECH เกี่ยวกับการแบ่งแยกมี 2 ระดับ

1. แบ่งแยกโดยไม่ตั้งใจ มีการยกตัวอย่างกรณีการสร้างภาพยนตร์เรื่อง หมากเตะโลกตะลึง ซึ่งผู้กำกับภาพยนตร์มีความตั้งใจจะนำเสนอทีมฟุตบอลของประเทศไม่พัฒนาไปแข่งในฟุตบอลโลก โดยนำประเทศลาวเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทันทีที่มีตัวอย่างฉายออกไป คนชนชาติลาวมองว่า เป็นการดูหมิ่น เพราะมีการนำเสนอภาพใส่เสื้อฟุตบอลทีมลาว ย้อมขนรักแร้สีทอง เปิดเพลงชาติลาว ซึ่งเกิดจากความไม่ตั้งใจ

การกลับมาของ‘วาทกรรม’  ปลุกสังคมแตกแยก

2. แบ่งแยกโดยตั้งใจ เป็นการปลุกเร้าให้เกิดการเกลียดชัง และสุดท้ายปลุกเร้าให้ใช้ความรุนแรง ซึ่งมีการใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพ ไปฆ่า ไปรุมโทรม จนกระทั่งไล่ออกไปจากสังคม

“การเลือกตั้ง ปี 2562 ทำให้เกิด HATE SPEECH ปรากฏกลับมาใหม่อีกครั้ง โดยเกิดขึ้นในข่าวลวงข่าวลือเยอะมาก จากนั้นจะทวีความรุนแรงขึ้น มีการแชร์ส่งต่อกัน และยังมีเพื่อมุ่งให้กระทบกับมติมหาชนเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เรียกว่ามีวาระชัดเจน”

ศ.ดร.พิรงรอง มองว่า การก้าวข้ามปัญหาคือการสร้างความเข้าใจ ความสามารถที่จะอยู่ร่วมท่ามกลางการแตกต่าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าสังคมไทยมีปัญหา ส่วนหนึ่งเพราะโลกออนไลน์ที่ผู้คนย้ายเข้า ไปมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นเรื่อยๆ มีลักษณะเสมือน
“ห้องแห่งเสียงสะท้อน” ที่ผู้คนเปิดรับและกลั่นกรองเฉพาะเนื้อหาที่ตรงและตอกยํ้าทัศนคติของตนเอง และปฏิเสธสิ่งที่ไม่ลงรอยด้วยอคติ

และแน่นอนว่า Hate speech อย่างเดียวคงไม่สามารถปลุกเร้าสังคมได้ หากเมื่อใดข่าวลวง หรือ fake news ผสมโรงมาด้วย แล้วถูกส่งต่อ จะช่วยเร่งเร้าขยายผลให้เกิดความขัดแย้งได้มากขึ้น นั่นคือสิ่งที่สังคมจะต้องรู้เท่าทัน 

อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3482 ระหว่างวันที่ 27 - 29 มิถุนายน 2562

การกลับมาของ‘วาทกรรม’  ปลุกสังคมแตกแยก