จี้รัฐคุมการซื้อ-ขายรถใหม่ หวั่นลามธุรกิจมือ2

02 ก.ค. 2562 | 02:45 น.

 

นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วหวั่นใจซัพพลายมือ 2 ล้นตลาด วอนรัฐแก้ปัญหาครบวงจรรถสะสมในประเทศ พร้อมคุมเข้มไฟแนนซ์ในการปล่อยสินเชื่อรถใหม่ด้านค่ายรถไม่สนเดินหน้าอัดโปรแรงหวังโกยยอดช่วงโลว์ซีซัน

สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-พฤษภาคม 2562) ยังคงคึกคัก ทั้งรถใหม่ป้ายแดงที่ขายได้ 4.37 แสนคัน เติบโต 9.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขายได้ 4.01 แสนคัน ขณะที่ตลาดรถมือ 2 ก็เติบโตไม่น้อยหน้ากันที่ 5%

“ภาพรวมตลาดรถยนต์มือ 2 ในช่วงที่ผ่านมาเติบโตประมาณ 5 % และสถานการณ์โดยรวมยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงทั้งเรื่องซัพพลายรถมือ 2 ที่ยังเพียงพอ ส่วนราคาขายก็ไม่มีความผันผวน เบื้องต้นคาดว่าจนถึงสิ้นปีตลาดรถมือ 2 จะเติบโตประมาณ 5% เหมือนเช่นครึ่งปีแรก” นายวิสุทธิ์ เหมพรรณไพเราะนายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว กล่าว

อย่างไรก็ดีมีปัจจัยที่ต้องการนำเสนอให้ภาครัฐช่วยพิจารณา นั่นก็คือ การบริหารจัดการรถเก่า เพราะหากไม่สามารถแก้ไขตรงนี้ได้จะเกิดผลกระทบขึ้นในอนาคต

“รถมือ 2 หรือรถเก่าในบ้านเรา มีการส่งออกไปน้อยมาก เพราะราคารถของเราสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งตรงนี้ต้องดูตั้งแต่ต้นทางคือรถใหม่ ที่ภาษีสรรพสามิตในบ้านเรานั้นมีการจัดเก็บในอัตราที่สูง ทำให้รถราคาแพง พอมาถึงปลายทางที่เป็นรถมือ 2  ราคาขายก็ยังคงสูงอยู่ ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศมีน้อย ไม่เพียงเท่านั้นรถส่วนมากจะถูกดัดแปลงสภาพ มีการนำไปติดตั้งเอ็นจีวี, แอลพีจี ทำให้เป็นอุปสรรคในการส่งไปยังตลาดต่างประเทศ”

จี้รัฐคุมการซื้อ-ขายรถใหม่ หวั่นลามธุรกิจมือ2

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนรถยนต์สะสม (รย 1-รย. 3) 18 ล้านคัน และในปีนี้จะเพิ่มมาอีก 1 ล้านคันเป็น 19 ล้านคัน โดยจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจะมีผลต่อรถมือ 2 ที่จะล้นตลาด ซึ่งจากการประเมิน เซ็กเมนต์ที่คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดมือ 2 คือ อีโคคาร์ และ ปิกอัพ

“อยากให้ภาครัฐออก กฎที่ชัดเจน มีการควบคุมจริงจังเกี่ยวกับการบริหารจัดการรถเก่า เพราะมิฉะนั้นซัพพลายจะท่วมตลาด และราคารถจะตกลงเรื่อยๆ ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาหากจะส่งออกไปเราก็แข่งขันกับประเทศอื่นๆไม่ได้ ดังนั้นจึงอยากเสนอให้มีโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ ตัวอย่างที่เห็นในตอนนี้เกิดขึ้นแล้วที่ประเทศจีน และญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยนั้นจะเป็นรูปแบบไหน คาดว่าต้องศึกษา แต่เบื้องต้นมองว่าต้องร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะต้องจริงจัง และทำงานร่วมกัน”

นายวิสุทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่ต้องจับตามองอีกข้อคือ การปล่อยสินเชื่อรถยนต์ใหม่ ที่มีอัตราการเติบโตพุ่งสูงมาก ส่งผลให้รถมือ 2 ถูกผลักเข้าสู่ตลาดมากเช่นเดียวกัน โดยประเด็นดังกล่าวนี้เมื่อสอบถามไปยังสถาบันการเงินต่างๆก็ได้รับคำตอบว่าทุกอย่างยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้

“เราเฝ้าระวังเรื่องมาตรการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เพราะเกิดคำถามว่าไฟแนนซ์ปล่อยรถใหม่ง่ายไปหรือเปล่า”

ถือเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วมีความกังวลใจ และเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์ต่างๆ ยังไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ เหล่าเต็นท์รถยังคงเดินหน้าทำตลาดกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลยุทธ์ที่แต่ละเจ้ามีการนำเสนอถือว่าดุเดือดไม่แพ้การขายรถใหม่ อาทิ เข้าร่วมงานอีเวนต์-โรดโชว์ นำเสนอโปรโมชันอย่าง ดาวน์ 0 บาท ดอกเบี้ย 0% ผ่อนนาน 84 เดือน รับประกันคุณภาพเพิ่มนาน 2 ปี หรือมีรถใหม่ไมล์น้อยมาให้เลือกในราคาพิเศษ

 

ขณะที่ค่ายรถในฝั่งรถใหม่ แต่ละค่าย-ดีลเลอร์ มีการงัดกลยุทธ์การตลาดออกมาแข่งขันกันอย่างรุนแรง เนื่องจากช่วงกลางปีถือเป็นโลว์ซีซันของการขาย ดังจะเห็นจากโปรโมชัน อาทิ โตโยต้า ยาริส ดาวน์ 0% ฟรีประกันภัยชั้น 1 ลุ้นรับบัตรกำนัลบิ๊กซี มูลค่าสูงสุด 1 แสนบาท, อีซูซุ ดีแมคซ์ ไฮ-แลนเดอร์ แอล ดาวน์ 3.5 หมื่นบาทรับบัตรกำนัลมูลค่า 2.8หมื่นบาท, อีซูซุV-Cross MAX 4x 4ดอกเบี้ยเริ่มต้น 0.75% หรือเพียงแค่ทดลอง ขับดีแมคซ์ บลูเพาเวอร์ ลุ้นรับบัตรกำนัล 1 แสนบาท

ส่วนฮอนด้ายังคงใช้โปรโมชัน “ฮอนด้า ช่วยผ่อน”โดยจะช่วยผ่อนนาน 12 เดือน เริ่มต้นที่ 1,000-3,000 บาท และยังมีโปรโมชัน “Double Smile”ดาวน์ 0 บาท หรือเลือกผ่อนสบาย เริ่มต้นที่ 4,000 บาท ฟรีประกันภัยชั้น 1 เป็นเวลา 1 ปี ในรุ่นบริโอ้, บริโอ้ อเมซ, โมบิลิโอ, ซิตี้, แจ๊ซ และซีอาร์-วี หรือรับสิทธิ์ดาวน์0บาท หรือเลือกผ่อนสบายเริ่มต้นที่ 9,000 บาท ในรุ่นบีอาร์-วี ,เอชอาร์-วี,ซีวิค และซีวิค แฮทช์แบ็ก

ซูซูกิ สวิฟท์ มอบส่วนลดอุปกรณ์ตกแต่งสูงสุด 60,000 บาท และฟรีประกันภัยชั้นหนึ่ง ด้านซูบารุ รุ่น XV ดอกเบี้ย 0% ผ่อนนาน 60 เดือน ฟรีประกันภัยชั้นหนึ่ง 

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,483 วันที่ 30 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562