นโยบายการเงินที่ไร้คำตอบในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

29 มิ.ย. 2562 | 12:15 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3483 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย.-3 ก.ค.2562

 

นโยบายการเงินที่ไร้คำตอบ

ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

 

                ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.75% ต่อปี พร้อมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 3.8% ลดลงเหลือ 3.3% และในปี 2563 จาก 3.9% ลงมาเหลือ 3.7% โดยกนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวตํ่ากว่าที่ประเมินไว้ โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้มากตามเศรษฐกิจคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่รุนแรงขึ้น เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวตํ่ากว่าที่ประเมินไว้จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ

                ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงรายได้และการจ้างงานที่มีสัญญาณชะลอลงในภาคการผลิตเพื่อส่งออก การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวตํ่ากว่าที่ประเมินไว้จากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่คาดว่าจะล่าช้าและการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง

                กนง.ระบุว่าจะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้ม การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งจะติดตามการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่และการใช้จ่ายภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

                กนง.ยังแสดงความกังวลต่อค่าเงินบาทในปัจจุบันแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วและแข็งค่านำเงินสกุลภูมิภาคซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและการไหลเข้าของเงินทุนอย่างใกล้ชิด

                ต้องยอมรับว่ามติและคำแถลงของกนง.เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา สร้างความผิดหวังให้กับภาคเอกชนอย่างมาก เพราะแม้ว่ากนง.ประเมินภาพรวมทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลง เช่นเดียวกับค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี แต่กนง.กลับเลือกที่จะอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่ยอมส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่าแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่การดำเนินนโยบายการเงินถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เราจึงหวังว่าการประชุมกนง.ครั้งต่อไปจะมีสัญญาณที่ชัดเจนมากกว่านี้