CIMBT หวังรัฐบาลใหม่ เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

04 ก.ค. 2562 | 04:00 น.

 

 

รายงาน

 

ผ่านครึ่งปีแรกมาแล้ว สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเรียงหน้าปรับลดประมาณการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2562 ลง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ลงแล้ว 2 ครั้ง เพราะผลกระทบหลักไม่เพียงมาจากต่างประเทศ จากปัญหาสงครามการค้าที่สหรัฐกดดันจีน จนลามสู่ภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอลง ทำให้ภาคส่งออกและการท่องเที่ยวไทยเสียการทรงตัวไปด้วย

CIMBT  หวังรัฐบาลใหม่  เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

อมรเทพ จาวะลา

ขณะเดียวกัน ภาคส่งออกยังเจอกับปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ยอดส่งออกติดลบเป็นเดือนที่ 5 อีก 7.2% มองไปข้างหน้า เงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อ ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ส่งสัญญาณจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ธปท.ปรับลดเป้าส่งออกจากขยายตัว 3.0% เหลือ 0% ตามด้วยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ปรับลดเป้าส่งออกจาก 8.0% เหลือเพียง 3.0% ภาคท่องเที่ยว ซึ่งเป็นความหวังจะได้รับอานิสงส์จากเงินบาทแข็ง ทว่าล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ก็ปรับลดเป้ารายได้ลง 2 หมื่นล้านบาท จากที่ตั้งไว้ 3.4 ล้านล้านบาทเหลือ 3.38 ล้านล้านบาท ทั้งปี เพิ่ม 9.5% จากเดิมอยู่ที่ 10% ท่ามกลางสถานการณ์ต่างประเทศที่ยังท้าทาย

ล่าสุดซีไอเอ็มบี ไทย หั่นจีดีพีจากเดิม 3.7% เหลือโตเพียง 3.3% มองส่งออกทั้งปีติดลบ 1.8% และมองว่า ปัญหาสงครามการค้ายังกระทบ พร้อมโยนความหวังไปที่รัฐบาลให้เร่งสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความเข้มแข็งจากภายใน พร้อมเตือนว่า ไทยจะ “ตกเป็นเหยื่อสงครามค่าเงิน” หากธปท.ไม่ลดดอกเบี้ย ดูดเงินไหลเข้า สวนทางต่างประเทศที่แห่ลดดอกเบี้ย และทำให้ค่าเงินอ่อนลง

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาคส่งออกที่ธนาคารปรับประมาณการเติบโตติดลบ 1.8% จากที่มองว่า ขยายตัวเป็นบวกเล็กๆ โดยจะติดลบถึง 3% ในช่วงครึ่งปีแรกและจะกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 4 ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ตํ่าในปีก่อน แต่ทั้งปียังคงติดลบ ซึ่งสาเหตุมาจากสงครามการค้าที่กระทบส่งออกไทย และกระทบไปยังการลงทุน ส่งผลให้เอกชนลังเลที่จะขยายกำลังการผลิต กลายเป็นปัจจัยเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยได้

CIMBT  หวังรัฐบาลใหม่  เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ที่นโยบายสำคัญของรัฐบาลใหม่ โดยสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งทำ คือ การเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ และสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยไทยจะต้องเร่งเจรจาการค้า FTA กับยุโรปให้เร็วที่สุด เพราะถ้าไม่เร่งทำไทยจะตกขบวนรถไฟ และจะทำให้ปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยได้ส่วนปัจจัยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินนโยบาย 3 ด้านหลัก คือ 1. นโยบายการดูแลราคาสินค้าเกษตรและกำลังซื้อภาคเกษตร อาจจะทำผ่านการการันตีรายได้ภาคเกษตร ผลักดันการกระจายรายได้เข้าสู่ในภาคต่างจังหวัด 2. นโยบายค่าครองชีพ ผ่านการสานต่อนโยบายบัตรสวัสดิการภาครัฐ ซึ่งจะช่วยประคองเรื่องกำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย และ 3. การลงทุนภาครัฐ รัฐบาลควรเร่งดึงความเชื่อมั่นภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC จะเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งท่ามกลางความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ

 

 

“ภายใต้จีดีพี 3.3% ที่ปรับลดลง เราเชื่อว่า รัฐบาลและธปท.จะต้องมีมาตรการออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กรณีที่ไม่มีมาตรการอะไรเลยโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวตํ่ากว่า 3% ก็มีโอกาสความเป็นไปได้ แต่เราเชื่อว่าจะต้องมีมาตรการที่เข้ามาดูแล 3 นโยบายจึงจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้” 

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3484 วันที่ 4-6 กรกฎาคม 2562

CIMBT  หวังรัฐบาลใหม่  เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ