FTAอียู-เวียดนามสะเทือนไทย จับตาค่ายรถแห่ย้ายฐาน

04 ก.ค. 2562 | 08:50 น.

พาณิชย์เผยผลกระทบFTA อียู-เวียดนาม ต่อการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะกลุ่มยานพาหนะและส่วนประกอบ ชี้ผู้ประกอบการไทยต้องพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ไปยังเวียดนามรวม ควรเร่งปรับตัววางแผนการผลิตและการตลาด เพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือสนค. เปิดเผยผลวิเคราะห์ผลกระทบของความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป – เวียดนามต่อการส่งออกสินค้าไทย (European Union-Vietnam Free Trade Agreement :EVFTA)ว่า กลุ่มสินค้าที่ไทยน่าจะได้รับผลกระทบ เช่น ยานพาหนะและส่วนประกอบ เวียดนามมีการออกกฎหมาย Decree 116 หากรวมกับผลจากความตกลง EVFTA แล้ว ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยต้องพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ไปยังเวียดนามรวมทั้งควรเร่งปรับตัววางแผนการผลิตและการตลาดเพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เวียดนามมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นและอาจได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม

 ดังนั้นไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาทักษะด้านแรงงาน ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันเครื่องนุ่งห่ม ความตกลง EVFTA จะเอื้อประโยชน์ให้แก่สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามเข้าสู่ตลาดยุโรปมากขึ้น เวียดนามยังได้เปรียบไทยในด้านค่าจ้างแรงงานที่มีราคาต่ำกว่า และมีแรงงานจำนวนมาก ผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มไทยต้อง นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย การใช้เส้นใยที่มีคุณสมบัติพิเศษ รวมทั้งการสร้างแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกและขยายฐานการตลาดให้กว้างขึ้นด้วยการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางออนไลน์ (online) ข้าว ไทยยังมีข้อได้เปรียบด้านการเป็นที่รู้จักและการได้รับการยอมรับในคุณภาพของข้าวหอมมะลิไทย จึงควรมีการพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดยุโรป และการประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทยที่แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ให้สามารถเพิ่มโอกาสการส่งออกข้าวที่มีราคาสูง รวมทั้งสำหรับตลาด niche เช่น ข้าวอินทรีย์และข้าวสีต่างๆ รวมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น บล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ในการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในอาหารให้แก่ผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูป ได้แก่ กุ้ง ปลา ปลาหมึก เวียดนามมีการคาดการณ์ว่า

การส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของเวียดนามปี 2562 จะมีแนวโน้มเติบโตสูงมากจากความตกลง EVFTA ผู้ประกอบการไทยจึงควรเข้าใจแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคของชาวยุโรป พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อส่งออกสินค้าได้ตรงกับความต้องการของตลาด ให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรทางทะเลและการทำประมงอย่างถูกกฏหมาย อัญมณีและเครื่องประดับ ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยในยุโรป คือ เยอรมนี และยังเป็นตลาดที่สามารถขยายตัวได้ ผู้ประกอบการไทยต้องเข้าใจถึงสภาพตลาดและติดตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคยุโรป เพื่อที่สามารถออกแบบและส่งออกสินค้าได้ตรงกับความต้องการ โดยสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีจุดแข็งด้านฝีมือของช่างผู้ผลิตและคุณภาพของสินค้า

ในขณะเดียวกันเวียดนามก็เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยการที่สินค้าจากสหภาพยุโรปได้เปรียบจากข้อยกเว้นด้านภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนาม อาจทำให้สินค้าไทยบางรายการแข่งกับสหภาพยุโรปในตลาดเวียดนามได้ลดลง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ ก่อนที่ความตกลง EVFTA จะมีผลบังคับใช้ เวียดนามถูกจัดอันดับโดยธนาคารโลกให้อยู่ในกลุ่มที่มี GNI per capita ระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ (Lower middle income) จึงได้รับสิทธิพิเศษ GSP จากสหภาพยุโรป

ดังนั้น นักลงทุนจากต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามก็สามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีได้ ซึ่ง สนค. ได้วิเคราะห์รายได้ประชาชาติต่อหัวของเวียดนามจากข้อมูลในอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่าเวียดนามจะเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางค่อนข้างสูงในช่วงปี 2569-2573 หรือ7 – 11 ปี ข้างหน้า จึงคาดการณ์ได้ว่า เวียดนามมีความเป็นไปได้ที่จะถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษ GSP ในอนาคต

อย่างไรก็ตามสนค.จะดำเนินการติดตามสถานการณ์และผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ การค้า และการส่งออกของไทยจากความตกลงการค้าเสรีดังกล่าวเพื่อสร้างความพร้อมในการรับมือให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการทุกภาคส่วนของไทย