ชี้เทรนด์ตลาดนาฬิกาหรูโตสวนกระแส จับตากลุ่มไฮเอนด์ และสปอร์ตแรงต่อเนื่อง หลังแบรนด์ดังพาเหรดรุกตลาดไทย บิ๊กเนมชี้ปัจจัยบวกครึ่งปีหลังทั้งจากรัฐบาลใหม่ และมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ขณะที่ปัจจัยค่าเงินบาทยังกระทบ ด้านสยามพารากอนทุ่มงบ 45 ล้านจัดใหญ่ วอทช์ เอ็กซ์โป หวังกวาดรายได้ทะลุ 360 ล้านบาท
แม้ภาพรวมตลาดลักชัวรีทั่วโลกจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามรายงานผลวิจัยของ BRANDZ บริษัทวิจัยทางการตลาดและสื่อสารการตลาดระดับโลก รวมถึงอุตสาหกรรมนาฬิกา ซึ่งจากข้อมูลงานบาเซิล เวิลด์ ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า การส่งออกนาฬิกาสวิตเซอร์แลนด์มีมูลค่าราว 2.1 หมื่นล้านฟรังก์สวิส หรือประมาณ 6.7 แสนล้านบาท โดยตลาดเอเชียเป็นแกนนำหลัก ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาด 53% เพิ่มขึ้น 12.2% และฮ่องกงยังคงเติบโตเป็นอันดับต้นๆ ขณะที่สหรัฐอเมริกามีส่วนแบ่งตลาด 14% และยุโรป 31%
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดนาฬิกาในเอเชีย ยังคงเป็นที่สนใจของแบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะประเทศไทยที่รั้งอันดับ 15 ของโลกที่นำเข้านาฬิกาจากสวิส โดยตลาดนาฬิกาหรูระดับลักชัวรี่ ยังคงเป็นอันดับ 1 ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าผู้ชายที่ให้ความสนใจมากกว่าผู้หญิง และนิยมซื้อเพื่อเป็นของขวัญ และการสะสมเพื่อเพิ่มมูลค่าและการลงทุน ขณะที่นาฬิกาในระดับอื่นๆ ก็ยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง ตลาดเมืองไทยจึงถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง
นายณรัน ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเอ็มที เดอะ อาวร์ กลาส จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายนาฬิกาหรู กว่า 30 แบรนด์ อาทิ ปาเต็ก ฟิลิปป์, โรเล็กซ์, อูโบลท์, โอเดอ มาร์ ปิเกต์ ฯลฯ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมของตลาดนาฬิกาอยู่ในระดับที่พอใจ มีการเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกันมองว่ายังมีปัจจัยบวกที่จะช่วยผลักดันให้ตลาดเติบโตขึ้น ทั้งจากเสถียรภาพทางการเมืองหลังจากที่มีรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น และทำให้การบริโภคในประเทศดีขึ้น
“ช่วงที่ผ่านมาผู้บริโภคยังเลือกที่จะใช้จ่ายในการเลือกซื้อนาฬิกาแต่ละประเภท ส่วนกลุ่มที่ยังใช้จ่ายเงินซื้อมีทั้งกลุ่มนักสะสม คนรุ่นใหม่ ที่ซื้อเพื่อสะสม เพื่อการลงทุน รวมถึงซื้อให้รางวัลกับตัวเอง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ยังคงมีการใช้จ่ายต่อเนื่อง หากพบกับคอลเลกชันหรือรุ่นที่โดนใจ”
ขณะที่ภาพรวมของบริษัทเอง ใน 6 เดือนที่ผ่านมาพบว่า มีการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก และคาดว่าจนถึงสิ้นปีจะมีการเติบโตราว 12-15% โดยกลุ่มลูกค้าหลักที่ยังคงจับจ่ายเป็นกลุ่มลูกค้าคนไทย ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ มีการใช้จ่ายลดลง ซึ่งมาจากหลายปัจจัยรวมถึงเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่า และการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายในประเทศตัวเองมากขึ้น
อย่างไรก็ดี นอกจากการทำตลาดในเมืองไทย ซึ่งล่าสุดบริษัทขยายสาขาใหม่ที่เซ็นทรัล ฟลอเรตต้าแล้วนั้น บริษัทยังขยายการลงทุนในเวียดนาม โดยร่วมลงทุนกับนักธุรกิจเวียดนาม นำเข้าและเปิดร้านจำหน่ายนาฬิกาหรูไปแล้ว 5 สาขา ในโฮจิมินห์และฮานอย ซึ่งพบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
ด้านนายจักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล Chief Business Officer-Specialty Business บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่าในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกอบการนำเข้านาฬิกาหรูเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับนำเสนอกลยุทธ์ รูปแบบใหม่ๆเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ อาทิ การทำนาฬิการุ่นพิเศษร่วมกับศิลปิน, ดารา หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง รวมถึงการเพิ่มไลน์สินค้าให้หลากหลายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้ออย่างต่อเนื่อง
ขณะที่กลยุทธ์ของ WATCH GALLERIA จะเน้นใน 3 ปัจจัย ได้แก่ การเพิ่มจำนวนแบรนด์และรุ่นของ Smart watch ออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่วนในกลุ่ม Mid Luxe watch จะเน้นการขยายสาขา นำรูปแบบ concept จากสวิตเซอร์แลนด์ ไปยังสาขาของเดอะมอลล์เพื่อสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีกำลังซื้อที่อาศัยอยู่รอบเมือง รวมทั้งการขยาย On line market โดยร่วมกับ Lazada เป็นช็อปนาฬิกาแห่งแรกที่เปิดขายผ่านช่องทาง on line ในเดือนตุลาคมนี้ โดยเบื้องต้นจะนำนาฬิกาหรูกว่า 20 แบรนด์ รวมกว่า 100 รายการออกวางจำหน่าย ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 แบรนด์ในอนาคต
“เทรนด์นาฬิกาที่ได้รับความนิยมยังคงเป็น การมิกซ์แอนด์แมตช์ X FASHION, AFFORDABLE PRICE และนาฬิกากลุ่มสีเขียว นํ้าเงิน เทา สีรุ้ง โดยเน้นที่กลุ่ม Hi-End และ Sport Trend ยังมีการเติบโตของยอดจำหน่ายสูงสุดในภาพรวมของตลาดนาฬิกา”
นางสาวชนิสา แก้วเรือน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานกิจกรรมการตลาดและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า คาดว่านาฬิกาแบรนด์หรู นาฬิการุ่นลิมิเต็ด หรือรุ่นพิเศษฉลองครบรอบต่างๆ ในกลุ่มไฮเอนด์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Franck Muller, Breitling, Hublot, Ulysse Nardin, Nomos Glashutte และแบรนด์ชั้นนำอื่นๆ เพราะยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดนักสะสมหรือคนชอบนาฬิการุ่นพิเศษ นอกจากนี้นาฬิกาในกลุ่มสมาร์ท วอทช์ ก็ยังคงเติบโตสูงขึ้นราว 10% จากเดิม 1.2%
สำหรับการจัดงานสยามพารากอน วอทช์ เอ็กซ์โป 2019 ในปีนี้ บริษัทใช้งบลงทุนกว่า 45 ล้านบาท จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “THE RHYTHM OF TIMEPIECES” โดยมีแบรนด์นาฬิกาชั้นนำจากทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 180 แบรนด์ รวมกว่า 3 หมื่นเรือน มาวางจำหน่าย ทั้งนาฬิกาคอลเลกชันเอ็กซ์คลูซีฟ, ลิมิเต็ด อิดิชั่น รวมถึงนาฬิกาแฟชั่นรุ่นใหม่ๆ มาให้เลือกซื้อ
พร้อมกับโปรโมชันต่างๆ อาทิ ส่วนลดสูงสุด 50%, บัตร M Card ลด 8% ส่วนลดเพิ่ม 12.5%, คูปองส่วนลด, สเปเชียล โบนัส และผ่อนชำระ 0% นาน 10 เดือน ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้มีเงินสะพัดภายในงานไม่ตํ่ากว่า 360 ล้านบาท
หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3485 ระหว่างวันที่ 7 - 10 กรกฎาคม 2562