รับมือ FTA เวียดนาม-อียู

06 ก.ค. 2562 | 13:37 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3485 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 7-10 ก.ค.2562

 

รับมือ FTA เวียดนาม-อียู

          สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ วิเคราะห์ผลกระทบความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-เวียดนามไทย (European Union-Vietnam Free Trade Agreement :EVFTA) ต่อการส่งออกสินค้า ภายหลังสหภาพยุโรปและเวียดนามได้ลงนามข้อตกลง EVFTA และข้อตกลงการคุ้มครองการลงทุนเวียดนาม-สหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็น FTA ที่ “มีความทะเยอทะยานและมีขอบเขตครอบคลุมที่สุด” ที่สหภาพยุโรปเคยเจรจากับประเทศกำลังพัฒนา

          ผลจากการวิเคราะห์พบว่า เมื่อความตกลง EVFTA มีผลบังคับใช้ อาจทำให้เวียดนามได้เปรียบไทยในการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรปจากความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่สูงกว่าสินค้าไทย เนื่องจากได้เปรียบจากข้อยกเว้นด้านภาษีนำเข้า อีกทั้งยังใช้สิทธิ GSP ซึ่งไทยถูกตัดสิทธิไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 อีกทั้งยังทำให้สินค้าไทยหลายรายการแข่งกับสหภาพยุโรปในตลาดเวียดนามลดลง โดยเฉพาะ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

          สนค. กังวลว่า หลังจากเวียดนามมีการออกกฎหมายว่าด้วย เงื่อนไขสำหรับผู้ผลิต ประกอบและนำเข้ารถยนต์รวมทั้งเงื่อนไขในการรับประกันและบริการซ่อมบำรุงรถยนต์ Decree 116 และลงนามความตกลง EVFTA แล้ว ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยต้องพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ไปยังเวียดนาม รวมทั้งควรเร่งปรับตัววางแผนการผลิตและการตลาดเพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

          ขณะที่กลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เวียดนามจะมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นและไทยอาจได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม ส่วนกลุ่มสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามก็จะเข้าสู่ตลาดยุโรปมากขึ้น อีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือผลิตภัณฑ์สัตว์นํ้าแปรรูป ได้แก่ กุ้ง ปลา ปลาหมึก ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงมากจากความตกลง EVFTA

          คาดการณ์กันว่าความสำเร็จในการเปิดเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปครั้งนี้ จะทำให้การส่งออกของเวียดนามไปสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดและกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย แม้ว่าปัจจุบันเวียดนามจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับปานกลางค่อนข้างตํ่า แต่ก็มีการวิเคราะห์รายได้ประชาชาติต่อหัวของเวียดนามจะเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางค่อนข้างสูงในช่วงปี 2569-2573 หรือในอีก 7-11 ปีข้างหน้า ดังนั้นภาครัฐและเอกชนของไทยจึงควรเร่งศึกษา และหามาตรการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามอย่างจริงจัง เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้า การลงทุนของไทย