ชำแหละขุมทรัพย์พลังงาน ทำไมล่อใจ‘นักการเมือง’

07 ก.ค. 2562 | 11:40 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3485 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 7-10 ก.ค.2562 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

ชำแหละขุมทรัพย์พลังงาน

ทำไมล่อใจ‘นักการเมือง’

 

            ถึงตอนนี้แม้ภาพความขัดแย้งแย่งชิงเก้าอี้เสนาบดีของนักการเมืองเพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจในฐานะ “รัฐมนตรี” ของพรรคพลังประชารัฐ ในกลุ่ม “สามมิตร” ที่มีรากเหง้ามาจาก SUMMIT” โดยเฉพาะเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเป็นที่ยุติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว “แค่พักรบชั่วคราว”

 

            แม้ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-สมศักดิ์ เทพสุทิน-อนุชา นาคาศัย” จะประกาศว่ายุติแล้ว จบแล้ว “...เราได้สื่อสารเกี่ยวกับความต้องการของอดีตแกนนำกลุ่มสามมิตร ไปให้ผู้มีอำนาจสูงสุด ผู้ใหญ่ในพรรคได้รับทราบแล้ว ไม่ว่าผู้ใหญ่จะตัดสินใจอย่างไร เราก็ไม่ได้รู้สึกน้อยใจ อยากให้ประชาชนมั่นใจว่า เมื่อจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ ก็จะเร่งเดินหน้าดำเนินนโยบายในทันที”

 

ชำแหละขุมทรัพย์พลังงาน ทำไมล่อใจ‘นักการเมือง’

 

            สารที่ถูกส่งออกมาจากกลุ่มสามมิตรในระยะสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ “ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะพิจารณาให้ใครนั่งในตำแหน่งใด การตัดสินใจเลือก ครม.ขั้นสุดท้ายนั้น เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี เรายืนยันจะเคารพการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และยังยืนยันที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติในนามของพรรคพลังประชารัฐต่อไป แม้การประกาศรายชื่อ ครม.จะไม่เป็นไปตามที่อดีตแกนนำกลุ่มสามมิตรได้ร้องขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณา ก็จะไม่มีแรงกระเพื่อมใดๆ จากอดีตแกนนำกลุ่มสามมิตรอย่างแน่นอน ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะพิจารณาอย่างไร พวกเราไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น”

 

            ทว่าในทางพฤติกรรมศาสตร์ “สนิมเกิดแต่เนื้อในตน” ที่เกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐ จนเกิดความขัดแย้ง เสมือน “แก้วที่แตกยากที่จะประสาน” ใครที่คิดว่าจะจบ ผมรับประกันว่าไม่จบ

           

            รอเพียงจังหวะที่เหมาะสม และหากมีการปรับคณะรัฐมนตรีขึ้นมาเมื่อใด ไฟที่คุกรุ่นในใจจะลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง

 

            นั่นเป็นเรื่องการเมือง การมุ้ง...ที่หลายคนตั้งคำถามดังๆ

 

            แต่ที่ดังสนั่นทุ่งกว่านั้นคือ ทำไมนักการเมือง โดยเฉพาะ ส.สุริยะ จึงแย่งชิงเก้าอี้กระทรวงพลังงาน ที่เป็น “ขุมทอง” ของชาติ

 

            กระทรวงพลังงาน มีอะไรที่เป็นขุมทรัพย์ที่ลึกลับซับซ้อนกว่าที่ “ผู้คนจะมองเห็น” นักการเมืองจึงไม่มีใครยอมใครในการต่อสู้กันเพื่อเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้

 

ชำแหละขุมทรัพย์พลังงาน ทำไมล่อใจ‘นักการเมือง’

 

            ผมขออนุญาตพาทุกท่านมารู้จักกระทรวงพลังงาน “เงิน-งบ-โครงการ-อำนาจของรัฐมนตรี” เพื่อให้ท่านได้เข้าใจ ตาแจ้งถึงการแย่งเก้าอี้ชามข้าวของนักเลือกตั้ง

 

            กระทรวงพลังงานมีงบประมาณปี 2562 แค่ 2,300 ล้านบาท แต่มีเงินนอกงบประมาณให้ดำเนินการพิเศษอยู่อีก 8,527 ล้านบาท รวมประมาณแค่ 1 หมื่นล้านบาท น้อยมากเมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆ

 

            แต่กระทรวงพลังงานถือเป็นยุทธศาสตร์ของชาติ ราคานํ้ามัน ค่าไฟฟ้า ขยับขึ้นลงแต่ละครั้งล้วนกระเทือน เขาว่ากันว่าที่นี่เต็มไปด้วยผลประโยชน์มหาศาล

 

            ผมจะไล่เรียงให้เห็นภาพ ประเทศไทยมีการใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงเฉลี่ยเดือนละ 5,600-6,000 ล้านลิตร เฉลี่ยวันละ 183-185 ล้านลิตร หรือ 1.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน นํ้ามันที่เราใช้ส่วนใหญ่นำเข้าเกือบ 100% จากแหล่งผลิตนํ้ามันทั่วโลกและกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง

 

            คนในวงการธุรกิจนํ้ามันเขากระซิบกันมาว่า ในการจัดหานํ้ามันจากแหล่งต่างๆ นั้น บริษัทผู้ค้านํ้ามันหลักที่นำเข้ามาจะต้องได้รับไฟเขียวจากกระทรวงพลังงานให้ “พยักหน้า” ด้วย ทุกครั้งมีการปรับเปลี่ยนแหล่งที่ซื้อหากมาใช้เพื่อความมั่นคง ไม่มีปัญหา

 

ชำแหละขุมทรัพย์พลังงาน ทำไมล่อใจ‘นักการเมือง’

 

            ว่ากันว่า เวลาจะเปลี่ยนแหล่งนํ้ามันแต่ละครั้งมีค่าจัดการ 3 ดอลลาร์ หรือ 90 บาทต่อบาร์เรล อะแฮ่ม เขาว่ากันนะครับ จะต้องจัดส่งผู้ให้ไฟเขียว 1 ดอลลาร์หรือ 30 บาทต่อบาร์เรล

 

            ถ้าใช้นํ้ามันวันละ 1.1 ล้านบาร์เรล เท่ากับจะมีเงินตกหล่นไปในมือนักการเมืองสำหรับค่าพยักหน้า 30 ล้านบาท เดือนละ 900 ล้านบาท

 

            ประการต่อมา การอนุมัติจัดหาก๊าซ การอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้า ทุกอย่างล้วนเป็นเงินเป็นทองและผลประโยชน์ และทุกอย่างได้ปรับเปลี่ยนใหม่มาเป็นอำนาจของ “รัฐมนตรี”

 

            เป็นการปรับเปลี่ยนใหม่ภายหลังคณะรัฐมนตรีรัฐบาลลุงตู่ ผ่านความเห็นชอบตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เสนอ 2 ประเด็น เรื่องแรกในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือพีดีพีฉบับใหม่ ให้โรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างใหม่พึ่งการใช้ก๊าซธรรมชาติเกือบจะทั้งหมด ไม่กระจายความเสี่ยงไปให้เชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ แค่นี้ก็หูอื้อ...

 

            เรื่องที่ 2 กพช.มีมติเห็นชอบแผนพีดีพี ให้อำนาจเต็มกับคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่รัฐมนตรีพลังงานเป็นประธาน ไปพิจารณาแนวทางการจัดหาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผนพีดีพี โดยที่ไม่ต้องนำกลับมาเสนอให้กพช.เห็นชอบ...แค่นี้ก็เท้าบวม

 

            แล้วยังงัยต่อ คนทั่วไปอาจมองไม่เห็น แต่นักข่าวเขาเห็นและได้กลิ่นกันมายาวนานแล้วว่า การปรับเปลี่ยนเงื่อนไข และการกระแอม!ของรัฐมนตรีพลังงานนั้นมันสะเทือน

 

ชำแหละขุมทรัพย์พลังงาน ทำไมล่อใจ‘นักการเมือง’

 

            เอาง่ายๆนะครับ ก่อนหน้านี้ กบง.ได้เห็นชอบให้โรงไฟฟ้าถ่านหินหลายโรง เปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรมชาติได้ ทั้งที่ผิดเงื่อนไขการประมูลไอพีพีเมื่อปี 2550...เห็นอะไรมั้ย

 

            กบง.ให้สิทธิบริษัทยักษ์ใหญ่พลังงาน ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซ ในพื้นที่ภาคตะวันตก 2 โรง กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ เป็นการสร้างทดแทน 1 โรง กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ สร้างใหม่ 1 โรง กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ โดยไม่ใช้วิธีการประมูล ขัดกับหลักการรับซื้อไฟฟ้าไอพีพี ที่ปฏิบัติกันมา

 

            กบง.นี่แหละมีการเปิดทางให้บริษัท ราช กรุ๊ปฯ หาพันธมิตร ที่เป็นเอกชนรายใหม่เข้ามาถือหุ้นใน 2 โรงไฟฟ้า

 

            เรื่องราวแบบนี้ “ชาวบ้าน” ไม่เข้าใจ แต่นักการเมืองเขารู้ครับว่า แค่กระแอม แค่ส่งเสียงเปรยตามสายลม ใครหลายๆคนในธุรกิจพลังงานจะเป็นลมเอา

 

            เสียงลือเสียงเล่าอ้างกันขรม...ว่าแค่รมว.พลังงานกระแอม ว่าจะรื้อเงื่อนไข เงินเมกะวัตต์ละ 5 แสน-1 ล้านบาทก็มีคนพร้อมจ่าย...เห็นหรือยังครับ

 

            ประการต่อมา แม้ว่าแผนพีดีพีฉบับใหม่จะผ่านความเห็นชอบจากครม.ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 แต่รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ยังสามารถยกเรื่องขึ้นมาทบทวนได้ เพราะถึงตอนนี้ต้องบอกว่า มีเอกชน ผู้ประกอบการ เรียกร้องให้มีการทบทวน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการมุ่งใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงมากเกินไป ไม่กระจายความเสี่ยงไปยังเชื้อเพลิงอื่น เช่น ถ่านหิน ต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น กระทบต่อค่าไฟฟ้าได้

 

            ลองคิดดูในประเทศนี้มีเศรษฐีใหม่ที่ธุรกิจพลังงานเกิดขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดกันกี่คน ในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีนี้ ใครหาไม่เจอก็ไปดูรายชื่อบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เอาก็ได้ โยนลงไปบริษัทไหนก็โดนเศรษฐี

 

ชำแหละขุมทรัพย์พลังงาน ทำไมล่อใจ‘นักการเมือง’

 

            ยังมีอีก แผนงานการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (GAS) เพื่อผลิตไฟฟ้า จะมาจากแหล่งใด หลังจากที่แหล่งก๊าซเอราวัณและบงกช สิ้นสุดสัมปทานในปี 2565-2566 อันนี้ก็อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีและมีผลประโยชน์ก้อนมหาศาลรอรับประทานกันละฮึ่ม...

 

            ถ้าหากพ้นจากกระทรวงพลังงาน ผมพาไปดูรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การควบคุม คือ กลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในแต่ละปีมีงบในการลงทุนปีละ 450,000 ล้านบาท

 

            ปตท.ลงทุนเอง 130,000 ล้านบาท บริษัทในเครือลงทุน 320,000 ล้านบาท

 

            ผมเรียงรายชื่อบริษัทไปก็แล้วกัน บริษัท จีพีเอสซีฯ ลงทุน 140,000 ล้านบาท บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมฯลงทุน 60,000 ล้านบาท บริษัท โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือจีซีลงทุน 50,000 ล้านบาท บริษัท ไทยออยล์ฯลงทุน 40,000 ล้านบาท บริษัท ไออาร์พีซีฯลงทุน 30,000 ล้านบาท

 

            คุณคิดว่า รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ทำได้แค่เสนอคณะกรรมการ กรรมการบริหาร ให้อนุมัติแผนการลงทุนเท่านั้นหรือครับ...

 

            ถ้าคิดและมองเห็นแบบนั้น แสดงว่าคุณไม่ใช่นักการเมืองครับ...