เวียดนามมาแรง ส่งออกปีนี้จ่อแซงไทย

08 ก.ค. 2562 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2562 | 07:07 น.

เวียดนามเสือติดปีก เบิ้ลเครื่องส่งออกจ่อแซงไทยปีแรก หลังทุนนอกทะลักหวังใช้แต้มต่อ 2 เอฟทีเอใหม่ “EVFTA-CPTPP” พ่วงจีนหนีสงครามการค้า 

ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยติดหล่มการเมืองมาหลายปี เวียดนาม ที่เป็นเพื่อนบ้านและเป็นคู่แข่งสำคัญทั้งด้านการส่งออก และการลงทุน ได้เร่งสร้างจุดเด่นให้กับประเทศเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (FDI) ให้เข้าไปใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตช่วยเพิ่มยอดการส่งออกและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (จีดีพี)ของประเทศให้ขยายตัวต่อเนื่อง ผ่านความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่

ปัจจุบันเวียดนามมีเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้าที่มีผลบังคับใช้แล้ว 11 ฉบับ และกำลังจะมีผลบังคับใช้อีก 2 ฉบับ ได้แก่ เอฟทีเอสหภาพยุโรป-เวียดนาม(EVFTA) และความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก(CPTPP) 

ขณะที่ยังมีเอฟทีเออีก 3 ฉบับที่อยู่ระหว่างเจรจา ได้แก่ เอฟทีเอ เวียดนาม-เอฟต้า เวียดนาม-อิสราเอล และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP หรืออาเซียนบวก 6) นอกจากนี้ผลพวงจากสงครามการค้าส่งผลให้การลงทุนจากจีนได้เริ่มเข้าไปใช้เวียดนามเป็นฐานผลิตใหม่เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ยิ่งช่วยติดปีกการส่งออกของ เวียดนาม

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในปีนี้มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปทั่วโลกมีโอกาสจะแซงหน้าไทยเป็นปีแรก สัญญาณจากในปี 2561 รวมถึงช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกเวียดนามขยับเข้ามาใกล้ไทยมาก (กราฟิกประกอบ) จากปัจจุบันเวียดนามมีเอฟทีเอใหม่ๆ ที่ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกได้มากกว่าไทย ที่สำคัญได้แก่ ความตกลง CPTPP ที่มีสมาชิก 11 ประเทศที่ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ขณะที่ EVFTA คาดจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาส 3 ของปีนี้

เวียดนามมาแรง ส่งออกปีนี้จ่อแซงไทย

สำหรับสิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้เสียเปรียบเวียดนามไปมากกว่านี้ คือ รัฐบาลใหม่ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี และมีดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเช่นเดิม ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งไทยและเทศได้ระดับหนึ่งแล้ว ต้องเร่งดึงการลงทุนในอีอีซีในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่จะช่วยผลักดันสู่ยุค 4.0 ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและการส่งออกให้ขยายตัว และต้องดำเนินการเจรจาทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป(อียู) ส่วนในอุตสาหกรรมที่อยู่ระดับ 2.0 หรือ 3.0 ต้องแยกกลุ่มในการส่งเสริมและสนับสนุนว่าจะผลิตสินค้าเป็น Mass แข่งขันด้วยราคาและคุณภาพ หรือเป็นสินค้าพรีเมียร์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงที่แข่งด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยียุคใหม่และช่วยผลักดันส่งออกในทั้ง 2 กลุ่ม

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3485 วันที่ 7-10 กรกฎาคม 2562

เวียดนามมาแรง ส่งออกปีนี้จ่อแซงไทย