‘เอสเอ็มอี’ เซ่นพิษเศรษฐกิจ ยอดหด 20%

12 ก.ค. 2562 | 02:20 น.

เอสเอ็มอีออกปากบ่นเศรษฐกิจซบทำให้ยอดขายหาย 20%  ชี้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นการใช้จ่าย รับต้องปรับตัว  และเพิ่มกลยุทธ์ทางการตลาดกระตุ้นยอดขายให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าประคองธุรกิจ  

หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจต่างพร้อมใจกันปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี (GDP) ของประเทศลงไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลกซึ่งปรับลดจีดีพีทั้งปีลงเหลือ 3.8% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.9% ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้มีการปรับลดจีดีพีปีนี้ลงเหลือ 3.8% จาก 4.0% ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 3.1% จาก 3.7% เป็นต้น  โดยการปรับลดดังกล่าวสอดรับกับความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สำรวจความคิดเห็นมา  

ทั้งนี้  เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่ายอดขายหดตัวลง  จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ซบเซาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้กลยุทธ์ทางการตลาดต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์รับกับสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

นางสาวฐาณิญา เจนธุรกิจ กรรมการบริหาร บริษัท ฑี ฐาณิญา จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องหอม แบรนด์ “THANIYA” (ฐาณิญา) ซึ่งมีลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ  ยอมรับว่า ยอดขายของบริษัทตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันลดลงประมาณ 20% โดยเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของไทย  และของโลก เนื่องจากแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งผ่านพ้นไปเกิน 100 วัน แต่ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยประเด็นดังกล่าวนั้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นในประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าที่จะใช้จ่าย

ขณะที่ในต่างประเทศเอง เช่น สหรัฐอเมริกา การดำเนินนโยบายทางการเงินก็ยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งยังมีเรื่องของสงครามการค้ากับจีนผสมผสานเข้าไปอีก  ทำให้นักลงทุนไม่กล้าที่จะลงทุน  จากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นบริษัทจึงต้องมีการปรับยุทธศาสตร์  โดยการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจรายอื่น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันเป็นโปรเจ็กต์ อาทิ การร่วมมือกับกลุ่มนักออกแบบ เพื่อทำผลิตภัณฑ์ สำหรับตกแต่งบ้านหรือคอนโดมิเนียม ซึ่งถึงแม้ว่างานจะไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่มาก แต่ก็มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และการทำตลาดร่วมกับแบรนด์อย่างหลุยส์วิตตอง และชาเนล ครูซ (CHANEL CRUISE) ในงานแฟชั่นโชว์ของแต่ละแบรนด์

นอกจากนี้  ยังมีการขยายสาขาหน้าร้าน  ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทำให้ผู้บริโภคได้เห็นผลิตภัณฑ์ของจริง สามารถช่วยกระตุ้นยอดขายได้ และยังมีการเพิ่มช่องทางการทำตลาดทางด้านออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในยุคปัจจุบัน โดยจากสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น เอสเอ็มอีจะต้องมีการปรับตัว พร้อมกับคิดวิเคราะห์ว่าจะดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างไรในช่วงเศรษฐกิจซบเซา  เพื่อรักษาธุรกิจให้ยังคงอยู่

เช่นเดียวกับนางอุบลวรรณ   ตั้งวัฒนพูลผล  กรรมการผู้จัดการ  บริษัท  ก๋วยจั๊บญวนคุณอุ๊  จำกัด  ผู้ผลิตและจำหน่ายก๋วยจั๊บญวนเส้นสดกึ่งสำเร็จรูป พร้อมปรุงแบรนด์ “ก๋วยจั๊บญวนคุณอุ๊” ซึ่งระบุว่า ยอดขายผลิตภัณฑ์บนช่องทางออนไลน์หายไปกว่า 20% ตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน  โดยมองว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซา ทำให้ผู้บริโภค ไม่กล้าที่จะจับใช้สอย ซึ่งหลักฐานที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดมาจากการที่บริษัทเป็นตัวแทนจุดกระจายสินค้าแห่งหนึ่งย่านสีลมให้กับผู้ประกอบการที่ทำเกี่ยวกับอาหารทะเลเจ้าหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงอย่างมาก และมีการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง  

‘เอสเอ็มอี’ เซ่นพิษเศรษฐกิจ  ยอดหด 20%

อย่างไรก็ดี  ด้วยสภาวการณ์ทางด้านเศรษฐกิจส่งผลทำให้ยอดคำสั่งซื้อหายไปอย่างมาก   ต่อวันจะมีลูกค้าเพียง 3-4 รายเท่านั้น จากเดิมที่ตามปกติผู้ประกอบการายดังกล่าวจะมีรายได้ต่อปีกว่า 100 ล้านบาท  ขณะที่การจำหน่ายหน้าร้านของ
แบรนด์ก๋วยจั๊บญวนคุณอุ๊เองก็ไม่สามารถเติบโตขึ้นได้ตามที่คาดหวังเอาไว้ โดยแบรนด์ได้มีการปรับตัวด้วยการจัดโปรโมชันส่งเสริมการขาย รวมถึงการซื้อโฆษณาเพิ่มบนช่องทางออนไลน์ และการออกงานแสดงสินค้าร่วมกับหน่วยงานต่างๆซึ่งไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก เนื่องจากไม่กล้าที่จะลงทุนมากในเวลาเช่นนี้  

นางสาววิภาวรรณวิวิธเทศ กรรมการผู้จัดการ  บริษัท  ลีฟไฮ  จำกัด  ผู้ผลิตและจำหน่ายถุงเก็บนํ้านมแบรนด์ “Toddler” และถุงแบบซิปล็อกแบรนด์ “SealZip กล่าวว่า จากต้นปีจนถึงปัจจุบันยอดขายของบริษัทอยู่ในภาวะที่ทรงตัว ทั้งที่ในความเป็นจริงควรที่จะต้องเติบโต จากภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซบเซา โดยบริษัทได้มีการปรับตัว และปรับกลยุทธ์ทางการตลาดรับกับสถานการณ์ โดยมุ่งเน้นการเข้าหากลุ่มลูกค้าโดยตรงมากขึ้น รวมถึงการเข้าหาตัวแทนจำหน่าย และการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ตรงกันช่วยผลักดันการตลาดให้มีประสิทธิภาพ

“ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไม่ดีมานานแล้ว ดังนั้นเอสเอ็มอีจะต้องมีการปรับตัว พร้อมกับหากลยุทธ์ใหม่ในการทำตลาดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น  โดยบริษัทเองก็มีการลงทุนเพิ่มเติม  เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด ซึ่งจะช่วยในการเพิ่มยอด  และขยายกลุ่มลูกค้า เรียกว่า หากนิ่งเฉยในภาวะแบบนี้  ธุรกิจอาจจะแย่มากไปกว่านี้” 

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3486 วันที่ 11-13 กรกฎาคม 2562

‘เอสเอ็มอี’ เซ่นพิษเศรษฐกิจ  ยอดหด 20%