แบงก์โล่งQRcodeไปต่อเร่งขยายร้านค้าอัดแคมเปญ

12 ก.ค. 2562 | 05:00 น.

แบงก์ประสานเสียง กฎหมายอี-เพย์เมนต์ ทำยอดใช้คิวอาร์โค้ดสะดุดช่วงสั้น ธปท.ปลื้มยอดใช้พร้อมเพย์-QR Code พุ่ง แบงก์แห่ขยายร้านค้า อัดแคมเปญกระทุ้งยอดใช้คิวอาร์โค้ด หนุนเศรษฐกิจดิจิทัล

กฎหมายอี-เพย์เมนต์ ที่มีผลบังคับใช้ มีผลให้ธุรรมการรับโอนเงินตั้งแต่ 3,000 ครั้ง หรือฝาก-โอน ตั้งแต่ 400 ครั้ง แต่มียอดธุรกรรมรวม 2 ล้านบาทขึ้นไป ธนาคารมีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมต่อกรมสรรพากร หากฝ่าฝืนเจอโทษปรับ 100,000 บาท ทำให้กระทบต่อระบบการชำระเงินออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ โมบายแบงกิ้ง หรือ คิวอาร์โค้ด(QR Code) ร้านค้าบางรายถึงขั้นเก็บป้าย QR Code

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า ปัจจุบันธปท.เริ่มเห็นสัญญาณการไต่ขึ้นของธุรกรรมการชำระเงินผ่านโมบายแบงกิ้งและคิวอาร์โค้ด ซึ่งปริมาณธุรกรรมเริ่มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากธนาคารพาณิชย์ยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ปีก่อน และเห็นการแข่งขันกันของธนาคารพาณิชย์ เพื่อดึงลูกค้าให้ทำธุรกรรมมากขึ้นด้วย เห็นได้จากธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเป็น 100 ครั้งต่อปีต่อคน จากเดิมเฉลี่ยที่ 50-60 ครั้งต่อปีต่อคน

“เราเห็นการชันขึ้นของยอดการทำธุรกรรม ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนครั้งการทำและปริมาณ คาดว่าทิศทางน่าจะยังเติบโตต่อเนื่องตลอดทั้งปี”

แบงก์โล่งQRcodeไปต่อเร่งขยายร้านค้าอัดแคมเปญ

ปรัศนี อุยยามะพันธุ์

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)กล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แม้ยอดการทำธุรกรรมผ่านคิวอาร์โค้ดลดลงบ้าง หลังมีกระแสข่าวภาครัฐให้รายงานธุรกรรมลูกค้า แต่ปัจจุบันยอดการใช้กลับมาเป็นปกติ และเห็นแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน เดิมคาดว่าจะมีปริมาณธุรกรรมรวมทั้งปีที่ 2.4 หมื่นล้านบาทเฉลี่ย 2,000-2,200 ล้านบาทต่อเดือน แต่ล่าสุดคาดว่าทั้งปีน่าจะเติบโตได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ 3-4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นยอดใช้ราว 3,300 ล้านบาทต่อเดือน เติบโต 80% จากปีก่อน

 

 

ในส่วนของร้านค้าที่รับชำระคิวอาร์โค้ดผ่าน B- Merchant ธนาคารยังคงขยายต่อเนื่อง ซึ่งลูกค้าสามารถสมัครผ่านแอพพลิเคชันได้ โดยปีนี้จะมุ่งเน้นร้านค้าขนาดเล็กตามแหล่งพื้นที่ชุมชน ตลาด และร้านค้าที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SSME) ที่มีแฟรนไชส์หลายสาขา ปัจจุบันมีร้านค้ารับชำระคิวอาร์โค้ด 7.8-8 แสนร้านค้า ตั้งเป้าจะมีร้านค้าเป็น 2 ล้านร้านค้าในสิ้นปี และร้านค้าที่มีเครื่องรับชำระบัตรเครดิต (EDC)ซึ่งมีราว 1.5-2 แสนเครื่อง จะพัฒนาให้สามารถรับชำระผ่านคิวอาร์โค้ดได้ด้วย เพื่อให้ลูกค้าเลือกใช้สะดวกขึ้น

 

แบงก์โล่งQRcodeไปต่อเร่งขยายร้านค้าอัดแคมเปญ

นายอมร สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ยอมรับว่า ช่วงที่มีประกาศจากกรมสรรพากรเรื่องการรายงานธุรกรรม ส่งผลให้ยอดการใช้ QR Code เดือนธันวาคม 2561-กุมภาพันธ์ 2562 สะดุดและชะลอเล็กน้อย จากยอดธุรกรรมปกติเฉลี่ย 1.1 ล้านรายการต่อเดือน ลงเหลือ 1 ล้านรายการต่อเดือน หายไปกว่า 1 แสนรายการ แต่ธุรกรรมกลับมาเพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธนาคารเข้าไปทำการตลาดเพิ่มเติม รวมถึงเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับร้านค้าต่างๆ และนำป้ายสติกเกอร์ไปวางใหม่ และขยายธุรกรรมไปสู่ QR Code บัตรเครดิต ส่งผลให้ธุรกรรมกลับมาดีขึ้นและเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านรายการต่อเดือน

 

ส่วนช่วงที่เหลือปีนี้ ธนาคารไม่ได้เน้นขยายร้านค้าเพิ่มขึ้นมาก จากปัจจุบัน 1.78 ล้านร้านค้าจะอยู่ที่ 2 ล้านร้านค้า แต่จะเน้นกระตุ้นให้ร้านค้าที่มียอดการใช้ที่สมํ่าเสมอ(Active)มากขึ้น ผ่านการทำโปรโมชัน เช่น ร่วมกับบีทีเอสให้ส่วนลดค่าโดยสาร 5 บาททุกรายการ หรือร่วมกับ แท็กซี่ กรณีที่แท็กซี่สามารทำรายการได้ตามกำหนด จะได้ทานอาหารฟรีที่ร้านอาหารขึ้นชื่อในแวดวงแท็กซี่ ปัจจุบันธนาคารมียอดใช้ผ่าน QR Code เฉลี่ย 1.2 ล้านรายการต่อเดือน มูลค่าราว 2,000 ล้านบาท ซึ่งจากการเข้าไปทำโปรโมชันเชื่อว่าจะมียอดใช้รวมทั้งสิ้นราว 5 หมื่นล้านบาทในสิ้นปี

นายสีหนาท ลํ่าซำ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Payment Product บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวม QR Payment ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เปิดให้บริการ มียอดร้านค้าที่สมัคร QR แม่มณีมากกว่า 1 ล้านรายในปีที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 500,000 รายในปีนี้ ขณะที่ยอดใช้จ่ายผ่าน QR Code ยังเพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมาการใช้ QR Payment ยังคงกระจุกตัวในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ ซึ่งยังต้องอาศัยภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ร่วมกันพัฒนาระบบให้เกิดความน่าเชื่อถือและร่วมกันผลักดันและให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่สังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริงและทั่วถึง

ทั้งนี้ ธนาคารมียอดเฉลี่ยการทำธุรกรรมผ่านคิวอาร์โค้ดมากกว่า 1.4 ล้านรายการต่อเดือน คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยมากกว่า 5,000 ล้านบาทต่อเดือน จากร้านค้าที่รับ QR Code มากกว่า 1.2 ล้านราย ขณะที่แนวโน้มการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้ง ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยสัดส่วน 55% ผ่านช่องทางดิจิทัล ขณะที่ช่องทางอัตโนมัติ (ATM/CDM) อยู่ที่ 39% และอีก 6% ผ่านช่องทางสาขา 

แบงก์โล่งQRcodeไปต่อเร่งขยายร้านค้าอัดแคมเปญ

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,486 วันที่ 11 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2562