มะริด: ภูมิรัฐประศาสนศาสตร์ข้ามคาบสมุทรไทย

10 ก.ค. 2562 | 07:35 น.

ผมและคณะเพิ่งกลับมาจากตะนาวศรีและมะริดครับ สนุก ตื่นตาตื่นใจ ข้ามไปทางด่านสิงขร ด้วยทางรถที่สะดวก ปลอดภัย ทางยาว 180 กม จะไปถึงตะนาวศรีได้ในชั่วโมงครึ่ง และต่อไปจนถึงมะริด ซึ่งอยู่ริมทะเลอันดามันอันแสนงาม ได้ ในอีกไม่เกินสองชั่วโมง

 

ทวาย มะริด เคยอยู่กับกรุงศรีอยุธยามายาวนานมาก และเป็นเมืองท่าของสยามทางด้านอันดามัน คนไทยในอดีตเดินทางไปลังกา ไปอินเดีย ไปเปอร์เซีย ก็ลงทะเลที่สองเมืองนี้ หรือโกษาปานไปเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ลงเรือที่มะริด ราชทูตอังกฤษที่มาเฝ้ารัชกาลที่สามและสี่รวมทั้งเซอร์จอห์น บาวริ่ง ก็มาขึ้นฝั่งที่มะริด แล้วต่อมาถึงกุยบุรี เพชรบุรี จนถึงกรุงเทพฯ

 

การที่เราเสียทวาย ตะนาวศรี มะริด ไปให้กับพม่าในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นทำให้เสียยุทธศาสตร์และมุมมองต่อโลกกว้างที่เคยมีผ่านคาบสมุทรไทยไปอย่างน่าเสียดาย คาบสมุทรไทยในทุกวันนี้ออกสู่สองทะเลหรือสองสมุทรได้ ก็ต้องเริ่มที่ระนองและชุมพรลงไปเท่านั้น การกุมสองทะเลของเรานั้นสั้นลงไปมาก เทียบกับครั้งอยุธยานั้น เรากุมสองฝั่งทะเล-สองฝั่งสมุทรยาวมาก  คือกุมตั้งแต่ทะวายที่ติดทะเลอันดามัน โปรดทราบว่าทะวายนั้นอยู่บนเส้นรุ้งเดียวกับกาญจนบุรีเชียว จากทะวายจะเดินทางบกและผ่านคลองมาได้ถึงอยุธยา เชื่อมลงไปถึงบางกอก และสมุทรปราการ และ ลงที่อ่าวไทยได้  และนั่นคือส่วนเหนือสุดที่สยามเชื่อมอ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิกเข้ากับทะเลอันดามัน และ มหาสมุทรอินเดียได้

 

กรุงศรีอยุธยานั้นร่ำรวยมากก็เพราะกุมสองฝั่งของคาบสมุทร ลงมาจนถึงมะริดซึ่งอยู่ตรงข้ามกับกุยบุรีและอ่าวไทย และจากที่นั่นก็โยงกลับอยุธยาได้สะดวก  จากมะริด และ กุยบุรี-เพชรบุรี คาบสมุทรไทยต่อยาวเหยียดกุมสองฝั่งลงไปจนใต้กว่าแถบสะตูล-ปัตตานีเสียอีก

 

สินค้าและผู้โดยสารจากอินเดีย เปอร์เชีย และ ออตโตมาน จะไปถึงจีนได้ ก็ต้องมาลงที่ทวายและมะริดของสยามก่อน ส่วนสินค้าและผู้โดยสารจากจีน ญี่ปุ่น ริวกิว  จะไปสู่อินเดีย หรือ ดินแดนที่อยู่ตะวันตกกว่าได้ก็จำต้องผ่านอ่าวไทยและต่อข้ามคาบสมุทรไปลงทะวายและมะริด ซึ่งตอนนั้นเป็นเขตของเรา และต่อเรือเดินทะเลไปทางตะวันตกอีกที 

    มะริด: ภูมิรัฐประศาสนศาสตร์ข้ามคาบสมุทรไทย

สยามนั้น ตรงข้ามกับไทยทุกวันนี้ ทันสมัย ทันโลก กรุงศรีอยุธยานั้นรุ่งเรืองไพบูลย์จริงๆ ชนชั้นนำในอดีตของเรามีมุมมองในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่น่าทึ่ง แน่นอน เราไม่ได้นำโลก แต่เราทันโลกครับ ทันมานานแล้ว ก็เพราะที่ตั้งของอยุธยานั่นแหละ ทำให้สยามเรามีมุมมองด้านการค้าและการเดินเรือที่เห็นโลก เข้าใจโลก เท่าทันมหาอำนาจ ตาเราเพ่งสู่ทะเลมากกว่าที่คนชั้นหลังจะทำได้ จากอ่าวไทยเราเคยมองไปจนถึงทะเลญวน ทะเลจีน และทะเลญี่ปุ่น เราเคยเชื่อมโยงกับสองทะเลสองสมุทรได้ตั้งแต่ที่ระดับภาคกลาง คือ ทวาย-กาญจนบุรี ลงไปไม่ขาดระยะ  ย้ำว่าตอนนั้นไม่มีพม่ามากั้นไว้ กุมลงไปเรื่อยๆ ถึงภาคใต้ จนสุดภาคใต้ และ ไม่หยุดแค่นั้น ยังลงใต้ต่อไป กุมมลายูประเทศราชสองฝั่ง บางครั้งกุมลงไปจนถึงมะลักกาได้เสียด้วย ไม่น่าเชื่อ

 

ที่พูดมานี้ไม่ใช่จะให้ไปทวงคืนทะวาย มะริด ตะนาวศรี หรือ บรรดารัฐตอนเหนือของมาเลเซีย แต่เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าบรรพชนเราคิดใหญ่ทำใหญ่ มองไกลเห็นไกล ประสานผลประโยชน์กับมหาอำนาจของภูมิภาคหรือของโลกได้มาตลอด ไม่กลัวใคร กล้ารับ เลือกรับของดี-ความคิดดีจากชาติหรือจากอารยธรรมอื่นๆ แม้ที่อยู่ไกลแสนไกล  เราคนทุกวันนี้ต้องเรียนรู้จากบรรพชน ทำให้ได้เท่าบรรพชน เห็นโลกกว้างไกล ใช้ประโยชน์จากทะเลให้ได้เท่ากับท่าน

ในทางรัฐประศาสนศาสตร์ แม้ทุกวันนี้ทะวาย มะริด ตะนาวศรี เป็นส่วนหนึ่งของพม่า แต่ควรคิดว่าอยู่ในเขตเศรษฐกิจข้ามคาบสมุทรของเรา ต้องรีบเชื่อมโยงในทุกด้าน จากเมืองอ่าวไทย ควรเร่งข้ามคาบสมุทรเพื่อไปฟื้นมิตรภาพ ไปคืนความเป็นบ้านพี่เมืองน้อง หรือ ฟื้นวงศ์วานเครือที่พอมี ช่วยเขาในสิ่งที่เขาขอ ไปร่วมและไปช่วยเขาสร้างบ้านแปงเมือง  ช่วยเหลือเกื้อกูลทะวาย มะริด ตะนาวศรี ให้อบอุ่นเป็นพิเศษ ให้เขา และช่วยเขา มากกว่าที่จะเอาจากเขา เช่นนั้น มิตรภาพข้ามคาบสมุทรก็จะยั่งยืนได้ เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝั่ง

 

โดย : ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์