กางพ.ร.บ.ปิโตรเลียม  อยู่เหนือสัญญาสัมปทาน

11 ก.ค. 2562 | 03:00 น.

ตามพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ได้กำหนดประโยชน์ สิทธิ และหน้าที่ของผู้รับสัมปทาน ไว้ในมาตรา 80/1 ว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง วัสดุ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการสำรวจผลิต เก็บรักษาหรือขนส่งปิโตรเลียม โดยให้ผู้รับสัมปทานจะต้องยื่นแผนงานและประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง

ทั้งนี้ ผู้รับสัมปทานต้องทำการรื้อถอนให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หากผู้รับสัมปทานไม่ดำเนินการรื้อถอน หรือดำเนินการล่าช้าอันอาจก่อให้เกิดความเสียหาย อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีอำนาจมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการรื้อถอนแทนหรือร่วมกับผู้รับสัมปทาน โดยใช้จ่ายจากหลักประกันตามที่กฎกระทรวงกำหนด

หากผู้รับสัมปทานไม่วางหรือวางหลักประกันไม่ครบตามจำนวนและระยะเวลาที่กำหนดให้เสียเงินเพิ่มอีก 2% ต่อเดือนของจำนวนหลักประกันที่ต้องวาง หรือวางขาด แล้วแต่กรณี และถ้ายังไม่มีการวางหลักประกันและเงินเพิ่มให้ถูกต้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อาจมีคำสั่งให้เพิกถอนสัมปทานได้ ซึ่งกรณีของเชฟรอนนั้น มีระยะเวลาให้วางหลักประกันได้จนถึงเดือนตุลาคม 2562 หลังจากได้แจ้งผลการประเมินมูลค่าหลักประกันการรื้อถอน ก่อนที่แหล่งเอราวัณจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565

ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎกระทรวง ว่าด้วยการกําหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ.2559 ที่กำหนดรายละเอียด ขอบเขตการปฏิบัติให้ชัดเจนในการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง และวิธีการจ่ายค่าหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง โดยทางกระทรวงพลังงานยืนยันว่า กฎกระทรวงที่ออกมาใช้บังคับในปี 2559 นั้น ถือเป็นกฎหมายลูกที่ออกตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม

ดังนั้น การที่ผู้รับสัมปทานหรือเชฟรอน จะหยิบยกสัญญาสัมปทานข้อ 15(4) ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำกันตั้งแต่ปี 2515 ซึ่งเป็นข้อตกลงและพันธะระหว่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย ในการส่งมอบสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องให้กับรัฐบาลไทย โดยไม่คิดมูลค่านั้น ทางกฤษฎีกา ได้ตีความแล้วว่า เป็นการดำเนินงานระหว่างคู่สัญญา ซึ่งสัญญาสัมปทานดังกล่าว จะอยู่เหนือพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่ถือเป็นกฎหมายหลักมิได้

ทั้งนี้ แม้ว่าเบื้องต้นทางผู้รับสัมปทาน ก็รับทราบข้อนี้ แต่ก็ยังติดใจว่า กฎกระทรวงที่ออกมา ไม่น่าจะมีผลย้อนหลัง ที่สำคัญภาครัฐไม่มีท่าทีขอแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่างคู่สัญญาให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในกฎกระทรวงที่ออกมาภายหลัง 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3486 วันที่ 11-13 กรกฎาคม 2562

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

● ปตท.สผ.ดัมพ์ราคาก๊าซ 116 บาท/ล้านบีทียู ชนะเชฟรอนทั้งแหล่งเอราวัณ-บงกช

● 'เชฟรอน' ผิดหวังแพ้ประมูลเอราวัณและบงกช

● ปตท.สผ. กำ 1.2 แสนล้าน จ่อซื้อ "เชฟรอนไทย" ยกพวง

● ยึดปิโตรเลียม 3 แสนล้าน! PTTEP-มูบาดาลา-มิตซุยฯ แย่งซื้อ 'เชฟรอน'

● ผวาเชฟรอน ปลดพันคน แห่ซบปตท.

● สหรัฐฯ ย้ำความร่วมมือไทย ยันเชฟรอนไม่ถอนการลงทุน

● 2 ยักษ์พลังงานขู่ฟ้องอนุญาโตฯ ยื้อค่ารื้อถอนแสนล้าน

● รัฐลั่นเก็บค่ารื้อถอนแสนล้าน2ยักษ์พลังงาน

 ‘กุลิศ’ท้าชน ยักษ์เชฟรอน ค่า‘รื้อแท่น’

 

กางพ.ร.บ.ปิโตรเลียม   อยู่เหนือสัญญาสัมปทาน