อี-คอมเมิร์ซครึ่งแรกโต33% ‘เสื้อผ้า-แฟชั่น’ครองแชมป์ช็อปมากสุด

14 ก.ค. 2562 | 11:05 น.

ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีมูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซ สูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งจากผลสำรวจพบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องราว 8-10% ต่อปี โดยสัดส่วนมูลค่าของตลาดอี-คอมเมิร์ซนั้นคิดเป็น 2-3% หรือราว 2-3 แสนล้านของภาพรวมตลาดค้าปลีกไทย ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท ปัจจัยที่มีส่วนช่วยทำให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเติบโตได้นั้น มาจากหลายภาคส่วนมีการสร้างอีโคซิสเต็มขึ้นมารองรับตลาดไม่ว่าจะเป็นด้านการขนส่งโลจิสติกส์ ระบบการชำระเงิน รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าบนแพลตฟอร์ม 

นางสาวธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอี-คอมเมิร์ซยังโตด้วยตัวเลข 2 หลัก และยังคงเติบโตได้อีก เช่นเดียวกับภาพรวมธุรกิจของ
ลาซาด้า ประเทศไทย ที่ในช่วงครึ่งปี 2562 นั้นมีจำนวนผู้ค้าเพิ่มขึ้น 68.3% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งร้านค้าบนแพลตฟอร์มลาซาด้ากว่า 90% นั้นเป็นร้านของคนไทย ผลิตภัณฑ์ยอดนิยมในแง่ของยอดขายรวมยังคงเป็นโทรศัพท์มือถือ สะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยที่มีการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นอันดับ 3 ของโลก และ 71% ของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตนั้นมีการซื้อสินค้าบนช่องทางออนไลน์ 

ขณะที่สินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นผู้หญิงยังคงเป็นสินค้ายอดนิยมอันดับ 1 ที่มีจำนวนการสั่งซื้อมากที่สุด กลุ่มลูกค้าหลักของลาซาด้าคือกลุ่มคนในช่วงอายุ 18-29 ปี ซึ่งเมืองที่มีการเติบโตมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คือ นราธิวาส, ยะลา,สระแก้ว โดยระยะเวลาที่คนมีการซื้อสินค้ามากที่สุดคือช่วง 10-11 โมง เพราะเป็นช่วงแฟลชเซลรอบแรกในแต่ละวันของลาซาด้า ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ ใช้อยู่บนแพลตฟอร์มคือ 10.3 นาที เพิ่มขึ้นจากฟีเจอร์ช็อปเปอร์เทนเมนต์ ที่เข้ามาให้บริการ ทั้งนี้ลาซาด้ายัง ได้จับมือกับแสนสิริ เพื่อเปิดตัวแสนสิริ ออฟฟิเชียล สโตร์ ซึ่งขายผลิตภัณฑ์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ครั้งแรก บน LazMall มีไลฟ์สตรีมฟีเจอร์ จำลองห้องตัวอย่างแบบ 3D ที่ลูกค้าสามารถดูและตัดสินใจซื้อคอนโดฯหรืออสังหาฯ ได้โดยไม่ต้องไปดูห้องตัวอย่างจริงผ่านแอพพลิเคชันของลาซาด้า

อี-คอมเมิร์ซครึ่งแรกโต33% ‘เสื้อผ้า-แฟชั่น’ครองแชมป์ช็อปมากสุด

เช่นเดียวกับนายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด กล่าวว่าทิศทางตลาดอี-คอมเมิร์ซของไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยคนไทยใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 4.2 ชั่วโมง กิจกรรมยอดนิยมที่คนไทยใช้เวลามากที่สุด คือ โซเชียลมีเดีย, การค้นหาข้อมูล, อีเมล์, บันเทิง และซื้อขายสินค้าออนไลน์ ปัจจุบันไพรซ์ซ่ามีสินค้าอยู่บนแพลตฟอร์มกว่า 50 ล้านชิ้น เป็นสินค้าจากผู้ค้าต่างประเทศ 58% และผู้ค้าไทย 42% โดยในช่วงครึ่งแรกของปีมีอัตราการซื้อ 4.06% เติบโตจากปีที่ผ่านมา 33% 

 

อย่างไรก็ตามสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีสินค้าเพิ่มขึ้นบนแพลตฟอร์มเป็น 62 ล้านชิ้น หรือเติบโตประมาณ 29% ซึ่งสินค้าที่สามารถสร้างยอดขายบนแพลตฟอร์มไพรซ์ซ่า คือ สินค้าสุขภาพความงาม รองลงมาคือ แฟชั่นเสื้อผ้า และเฟอร์นิเจอร์ของแต่งบ้าน ขณะที่สินค้าที่มีจำนวนการสั่งซื้อสูงที่สุด ยังคงเป็นสินค้าแฟชั่นและเสื้อผ้า โดยในแต่ละเดือนมีผู้เข้าชมแพลตฟอร์มไพรซ์ซ่าเฉลี่ยกว่า 13 ล้านคนต่อเดือน เทียบเท่ากับลูกค้าของไอคอนสยาม 3.5 แห่ง

นอกจากนี้ไพรซ์ซ่ายังได้มีการเปิดตัวโมเดลธุรกิจใหม่ คือ E-Commerce Distribution Platform โดยจับมือพันธมิตรในหลากหลายธุรกิจ ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการติดตามพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและความสนใจของผู้บริโภคที่เข้ามาช็อปปิ้งผ่านแพลตฟอร์มของไพรซ์ซ่า คาดว่าพันธมิตรจะมีการเปิดตัวโมเดลดังกล่าวภายในเดือนหน้า เพื่อตอบ โจทย์ความต้องการซื้อสินค้าผู้บริโภคในขณะนั้น ให้นักช็อปเลือกซื้อสินค้าได้ทันทีซึ่งมีไพรซ์ซ่าเป็นตัวกลาง 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3487 ระหว่างวันที่ 14 - 17 กรกฎาคม 2562