ลากขึ้นเขียงชำแหละต่อสัมปทาน 2 เมกะโปรเจ็กต์คมนาคม

15 ก.ค. 2562 | 23:35 น.

พลันที่มีการยื่นญัตติด่วนเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษากรณีการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนให้กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้า กรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BEM และการขยายอายุสัมปทานให้กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสไปอีก 40 ปีตามที่นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคพลังธรรมใหม่ยื่นญัตติในครั้งนี้เพื่อสาวลึกถึงความไม่ชอบมาพากลของทั้ง 2 เมกะโปรเจ็กต์ดังกล่าวพร้อมเปิดอภิปรายในสภาในช่วงบ่ายๆไปถึงคํ่าของวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา

ล่าสุดนั้นสภาผู้แทนราษฎรโดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาทั้ง 2 เรื่องเรียบร้อยแล้ว โดยในเรื่องนี้นพ.ระวีได้ออกมาแถลงกับสื่อมวลชนของรัฐสภาว่าได้อนุกรรมาธิการจำนวน 39 คน เป็นคนจากพรรครัฐบาล 20 คน และจากพรรคฝ่ายค้าน 19 คน ส่วนใครจะทำหน้าที่ประธาน รองประธาน โฆษกอนุกรรมาธิการ ในรายละเอียดนั้นจะมีการประชุมรอบแรกในวันที่ 18 กรกฎาคมนี้

ดึงคนเด่นร่วมชำแหละเพียบ

โดยบุคคลเด่นๆ ที่จะได้เชิญเข้ามาร่วมชำแหละผลประโยชน์ ที่ซับซ้อนและสร้างรายได้ให้กทพ.- BEM เป็นกอบเป็นกำ (ดังแสดงในอินโฟ) ร่วมกับกรรมาธิการชุดนี้ประกอบไปด้วยนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จากพรรคประชาธิปัตย์ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ อีกทั้งยังทาบทามผู้ที่เชี่ยวชาญในการสอบรายละเอียดเชิงลึกชั้นนำของประเทศอีกหลายคนเข้ามาร่วมเป็นอนุกรรมาธิการในครั้งนี้ด้วย

หลังจากนี้คณะอนุกรรมาธิการ จะเร่งยื่นหนังสือเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับโครงการทั้งหมดเพื่อให้อนุกรรมาธิการได้ศึกษารายละเอียดอย่างเต็มที่ก่อนที่จะเชิญผู้ที่เกี่ยว ข้องมาซักรายละเอียดในเชิงลึกกันต่อไป ซึ่งอาจจะแยกอนุกรรมาธิการ ในส่วนเรื่องการต่อสัญญาสัมปทาน บีทีเอสออกไปต่างหากอีกส่วนหนึ่ง โดยในส่วนกรณีเรื่องค่าโง่ทางด่วนจะมีอนุกรรมาธิการ ฝ่ายศึกษากรณีพิพาทค่าโง่มีความเป็นมาอย่างไร ฝ่ายศึกษากฎหมาย ซึ่งในเบื้องต้นพบว่าไม่สามารถต่อสัญญาสัมปทานต่อไปได้

ทั้งนี้คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 15 วันดำเนินการในส่วนนี้หลังจากนั้นอนุกรรมาธิการจะสรุปเรื่องเสนอรัฐบาลต่อไป ซึ่งถือเป็นการปิดจ็อบแรกในกรณีนี้ที่รัฐบาลจะต้องจ่ายค่าโง่ 4,300 ล้านบาทตามที่ศาลสั่งมาแล้วนั้น ส่วนจ็อบที่ 2 จะต้องไล่รายละเอียดในส่วนที่เหลืออื่นๆที่ยังมีระยะเวลาอีกประมาณ 45 วัน

ในส่วนเรื่องของบีทีเอส นั้นคาดว่าจะใช้ระยะเวลานานราว 3 เดือนจึงยังไม่เร่งรีบในตอนนี้ เนื่องจากกรรมาธิการดำเนินการ ในส่วนค่าโง่ให้แล้วเสร็จก่อนเพื่อยุติที่การทางพิเศษแห่งประเทศ ไทย (กทพ.) จะต้องจ่ายดอกเบี้ยวันละ 3 แสนบาทให้ BEM

ลากขึ้นเขียงชำแหละต่อสัมปทาน  2 เมกะโปรเจ็กต์คมนาคม

ด้านพรรค “ภูมิใจไทย” ก็ได้อภิปรายอย่างเข้มข้นพร้อมยื่นญัตติด่วนให้สภาตั้งกรรมาธิการพิจารณาการต่อสัมปทานทางด่วนให้ “BEM” โดยนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ถกญัตติด่วนเรื่องนี้ เนื่องจากญัตติด่วนนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ ดังนั้นจึงควรตั้งกรรมาธิการศึกษาพิจารณาให้ครบถ้วนทั้ง 2 ด้าน ถ้าไม่ต่อสัมปทานก็ควรมีเหตุผลและชี้แจงได้ว่า ประเทศชาติและประชาชนได้อะไร หรือถ้าต่ออายุสัมปทานมีผลอย่างไรและได้ประโยชน์อย่างไร ควรชี้คำตอบให้ชัดเจน

 

‘ไพรินทร์’ผวาค่าโง่บาน

กรณีนี้พบว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) คสช.มีมติให้ดำเนินการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาท จึงต้องให้ฝ่ายที่มีอำนาจในปัจจุบันตัดสินใจ และยํ้าว่าฝ่ายนิติบัญญัติต้องตรวจสอบความโปร่งใส ส่วนฝ่ายบริหารโดยนายศักดิ์สยาม
ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคงต้องลงลึกในรายละเอียดต่อไป เพราะตนไม่เห็นด้วยที่จะยอมแพ้เพื่อต่อสัญญาให้เอกชน ที่มีความพยายามสร้างตัวเลขมูลหนี้เกินจริงกว่าแสนล้านบาท จึงเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะทำให้ทุกเรื่องเกิดความกระจ่าง และเสนอให้ฝ่ายบริหารรับรู้ต่อไป

ทางฟากนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่า การกระทรวงคมนาคมเปิดห้องทำงานที่กระทรวงคมนาคมเปิดเผยต่อสื่อมวลชนในเรื่องนี้ทันทีว่าปี 2532 เริ่มดำเนินโครงการ ดังนั้น 30 ปีไม่คาดว่าจะได้กลับมาทำเรื่องนี้อีกครั้งโดยมีธนาคารกรุงเทพเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในขณะนั้น จึงพบว่าปัญหากทพ.มีมาตั้งแต่ในอดีต ปัจจุบันมีกำไร 7,000 ล้านบาทต่อปี เป็นร่วมทุนพีพีพีรุ่นแรกโดยบริษัทกูมาไกกูมิของญี่ปุ่นที่ก่อสร้างโครงการนี้มาตั้งแต่ในช่วงแรกๆ

“กรณีนี้มี 2 เรื่องหลักคือ กทพ.เติบโตช้า และเรื่องคดีความ โดยพบว่ากทพ.เติบโตช้า 40 ปีได้ระยะทางราว 200 กม.เท่านั้น รถติดมากมายบนทางด่วน รถเต็มความจุ และความยาวไม่ได้รับการขยาย ส่วนคดีความนั้นรัฐไปสร้างทางด่วนแข่งขันซึ่งศาลปกครองสูงสุดสั่งว่ากทพ.ต้องจ่าย 4.3 พันล้านบาทให้ BEM ภายใน 90 วัน ส่วนคดีอื่นๆ นั้นพบว่าศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้แพ้ในบางคดีและอยู่ในชั้นอนุญาโต ตุลาการพิจารณา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อศาลตัดสินไปแล้วจะพบว่าศาลจะปฏิบัติในคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันไปในแนวทางเดียวกันหมด ปมคดีดังกล่าวพบว่าคดีฟ้องร้องได้ตัดสินว่าแพ้ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา และมีการถกกันในครม. เหตุกรณีนี้ได้เกิดเหตุขึ้นก่อนที่จะมีรัฐบาลคสช. ซึ่งยืนยันว่าแนวทางการเจรจาเป็นสิ่งที่ดีอีกทั้งครม.ให้กทพ.หาทางเจรจา โดยไม่จ่ายเป็นเงิน และประชาชนได้ประโยชน์ ซึ่งจะระบุเงื่อนไขว่าให้ยกเลิกข้อพิพาททั้งหมด ดังนั้นหากรอตัดสินทั้งหมดก็คงไม่ต้องไปเจรจากันแล้ว คงต้องจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ประการสำคัญหากไม่เจรจาภาระหนี้จะเพิ่มไปกว่าแสนล้านบาทด้วยเช่นกัน” 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3487 ระหว่างวันที่ 14 - 17 กรกฎาคม 2562