นิคมฯ อีอีซีบูม 16 รายขอตั้ง 3หมื่นไร่ ลุ้นปรับสีผังเขียวเป็นม่วง

14 ก.ค. 2562 | 06:30 น.

 

 

 

เอกชนหน้าใหม่ 16 ราย แห่ยื่นขอจัดตั้งนิคมฯ ในอีอีซี รวมพื้นที่ 3.24 หมื่นไร่ กนอ.รอลุ้นผังเมืองใหม่ที่จะประกาศสิงหาคมนี้ จะปรับพื้นที่สีเขียวเป็นสีม่วงให้หรือไม่ ก่อนไฟเขียวตั้งเป็นนิคมฯร่วมดำเนินงาน จัดหาพื้นที่ลงทุนตามเป้าอีอีซี 5 หมื่นไร่

นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่ดำเนินงานกว่า 2 ปี ปัจจุบันมีความชัดเจนมากขึ้นในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการหลักที่สำคัญ และเห็นได้จากยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอในพื้นที่อีอีซี ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีเกือบ 1 พันโครงการ เงินลงทุนกว่า 1.05 ล้านล้านบาท ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานนั้น ตั้งเป้าหมายที่จะให้เกิดการลงทุนในอีอีซีไว้ปีละ 1 แสนล้านบาท เป็นอย่างตํ่า

จากปัจจุบันดังกล่าว ส่งผลให้เวลานี้มีเอกชนรายใหม่ๆ สนใจที่จะนำที่ดินมาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามามากขึ้น จากปัจจุบันที่มีนิคมในพื้นที่อีอีซีแล้วราว 34 แห่ง พื้นที่ราว 1.34 แสนไร่ ซึ่งจำนวนดังกล่าวนี้ได้ถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษแล้ว 21 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 9.1 หมื่นไร่ รองรับการลงทุนใหม่ได้ราว 1 หมื่นไร่

นางสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่า นโยบายอีอีซีที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เอกชนที่มีที่ดิน เห็นโอกาสที่จะเข้ามาลงทุนหรือพัฒนาพื้นที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในอนาคตอันใกล้นี้ โดยปัจจุบันมีเอกชนซึ่งเป็นรายใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในธุรกิจนี้เข้ามายื่นเรื่องขอจัดตั้งเป็นนิคมราว 16 ราย คิดเป็นพื้นที่รวม 32,450 ไร่ อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา 8 ราย เนื้อที่รวม 24,718 ไร่ จังหวัดชลบุรี 5 ราย เนื้อที่รวม 4,306 ไร่ และจังหวัดระยอง 3 ราย เนื้อที่รวม 3,426 ไร่

นิคมฯ อีอีซีบูม 16 รายขอตั้ง 3หมื่นไร่ ลุ้นปรับสีผังเขียวเป็นม่วง

 

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการรายเดิม 2 ราย ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง ในจังหวัดระยอง ได้ยื่นขอขยายพื้นที่ราว 2,300 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมคอสมิค จังหวัดระยอง ยื่นขอขยาย 2 พื้นที่ รวมเนื้อที่เกือบ 1.5 พันไร่ เพื่อขอจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติม หากรวมทั้งที่ยื่นขอ 18 ราย รวมเนื้อที่กว่า 3.6 หมื่นไร่

อย่างไรก็ตาม ในการยื่นขอจัดตั้งเป็นนิคมดังกล่าวนั้น ทางกนอ.ยังสามารถอนุมัติให้ดำเนินการจัดตั้งได้ เนื่องจากจะต้องรอความชัดเจนของผังเมืองรวมอีอีซี ที่จะออกมาในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ก่อนว่า พื้นที่ที่ยื่นขอจัดตั้งนิคมมานี้ อยู่ในเขตพื้นที่สีเขียวหรือไม่ รวมถึงเข้าหลักเกณฑ์การจัดตั้งนิคมตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งหากพื้นที่ดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีม่วง และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งนิคม ทางกนอ.ถึงจะพิจารณาและอนุมัติให้เป็นนิคมร่วมดำเนินงานกับกนอ.ได้ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะต้องไปจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นนิคมขึ้นมาได้

“ขณะนี้พื้นที่ที่เป็นสีม่วง เพื่อประกอบการอุตสาหกรรมในอีอีซีค่อนข้างจะเต็มแล้ว จึงต้องรอความชัดเจนของผังเมืองรวมอีอีซี ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองจะประกาศออกมาในเดือนสิงหาคมนี้ ว่าจะมีพื้นที่ใดถูกปรับเปลี่ยนจากพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่การเกษตรมาเป็นพื้นที่สีม่วงบ้าง หากยังติดปัญหาเป็นพื้นที่สีเขียวกนอ.ก็ไม่อนุมัติให้จัดตั้งได้ แต่หากอยู่ในพื้นที่สีม่วงทั้งหมด และเข้าหลักเกณฑ์จัดตั้งนิคม การพัฒนาคงจะใช้เวลาไม่ตํ่ากว่า 2-3 ปี ถึงจะดำเนินงานได้”

นิคมฯ อีอีซีบูม 16 รายขอตั้ง 3หมื่นไร่ ลุ้นปรับสีผังเขียวเป็นม่วง

ทั้งนี้ หากสามารถจัดตั้งนิคมตามที่ยื่นขอมาได้ทั้งหมด จะทำให้กนอ.มีพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนตามนโยบายอีอีซี เพิ่มขึ้นกว่า 4 หมื่นไร่ ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กพอ.ให้กนอ.จัดหาพื้นที่รองรับการลงทุนในอนาคตไว้ 5 หมื่นไร่ ภายในปี 2564

สำหรับการดำเนินงานในรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ (ตุลาคม 2561-พฤษภาคม 2562) มียอดขายพื้นที่ 1,765 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อีอีซี 1,641 ไร่ นอกอีอีซี 124 ไร่ เพิ่มขึ้น 76.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 998 ไร่ 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3487 ระหว่างวันที่ 14 - 17 กรกฎาคม 2562

นิคมฯ อีอีซีบูม 16 รายขอตั้ง 3หมื่นไร่ ลุ้นปรับสีผังเขียวเป็นม่วง