นำนวัตกรรม-เทคโนโลยี ปั้น‘สตรีต ฟู้ด’ ผงาดเวทีโลก

19 ก.ค. 2562 | 11:01 น.

           เอกชนผนึกกำลังปั้น “สตรีต ฟู้ด” แนะสตาร์ต อัพ เอสเอ็มอีนำเทคโนโลยี นวัตกรรมเสริมแกร่ง ขณะที่ “FFI” จับมือห้องปฏิบัติการกลางฯ ยกระดับมาตรฐานด้านความสะอาด การบริหารจัดการ พร้อมผลักดันสู่ระบบแฟรนไชส์เต็มรูปแบบ

          ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ ระบุว่า ตลาดรวม street food ไทย มีมูลค่า 2.7 แสนล้านบาท มีผู้ประกอบการร่วม 3 แสนราย และคาดการณ์ว่า จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 3.4 เเสนล้านบาท ในปี 2564 หรือมีการเติบโตราว 5% ต่อปี ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนความนิยมในตัวร้านอาหารสตรีต ฟู้ด ของเมืองไทยได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ผู้ประกอบการ หน่วยงาน ต่างเร่งผลักดันให้สตรีต ฟู้ด ไทยได้เดินถูกทาง เพราะนอกเหนือจากความนิยมภายในประเทศแล้ว ชื่อของ “สตรีต ฟู้ด” เมืองไทยยังดังไกลไปทั่วโลก จนกลายมาเป็นอีกหนึ่งแม็กเนตสำคัญในการดึงนักท่องเที่ยวชาวช่างชาติเข้ามาในประเทศ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน(เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ) ได้ปีละมากกว่า 2.21 ล้านล้านบาท ซึ่งจากตัวเลขทั้งหมดส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีโอกาสทางการเติบโตสูง ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ หากแต่หมายรวมถึงสตาร์ตอัพ SME ร้านค้าทั่วไป หรือแม้กระทั่งร้านริมถนนได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก

จับตาร้านอาหาร /ส่งออกมาแรง

          นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือ บริษัท อินฟอร์มาร์ พีแอลซี ประเทศอังกฤษ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากทั้งปัจจัยของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยความเป็นดิจิทัล ได้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มของทุกอย่างในปัจจุบัน นำไปสู่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิม ผู้ประกอบการในวงการนี้จึงต้องปรับตัวและอยู่ให้รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรง โดยการตามกระแสไปกับเทคโนโลยี นวัตกรรม เทรนด์การรักษ์โลก และความนิยมของการดูแลสุขภาพ

นำนวัตกรรม-เทคโนโลยี ปั้น‘สตรีต ฟู้ด’ ผงาดเวทีโลก

                         รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์

          สำหรับทิศทางต่อไปของสตาร์ตอัพและเอสเอ็มอีด้านอาหารและเครื่องดื่มของไทยคือการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับที่เป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้า เพื่อเสริมความมั่นใจให้กับนักลงทุนและดึงความสนใจจากผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ขณะที่ภาคเกษตรกรรมในปัจจุบันต้องมีการปรับตัว และคำนึงถึงการจัดการทรัพยากร การใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสม โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตเพื่อควบคุมการผลิต ซึ่งมองว่าต้องได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อรักษาตำแหน่งเจ้าตลาดด้านอาหารและเครื่องดื่มของไทยบนเวทีโลก 

นำนวัตกรรม-เทคโนโลยี ปั้น‘สตรีต ฟู้ด’ ผงาดเวทีโลก

        นำนวัตกรรม-เทคโนโลยี ปั้น‘สตรีต ฟู้ด’ ผงาดเวทีโลก

            ล่าสุดจึงได้จัดงาน Fi Asia 2019 จะจัดขึ้นในวันที่ 11-13 กันยายน 2562 ณ ไบเทค บางนา ภายในงานครบครันด้วยการจัดแสดงนวัตกรรมส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มอย่างครบวงจร ด้วยการตอบรับเข้าแสดงสินค้าจากผู้ประกอบการชั้นนำกว่า 750 บูธ จาก 50 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังมีส่วน Innovation Zone ที่จัดแสดงนวัตกรรมส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มจากเทรนด์อาหารที่น่าสนใจ พร้อมการประกาศผลการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มให้กับผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ และการจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติในหัวข้อที่น่าสนใจอีกมากมาย

นำนวัตกรรม-เทคโนโลยี ปั้น‘สตรีต ฟู้ด’ ผงาดเวทีโลก

“สตรีต ฟู้ด”โอกาสทอง ธุรกิจอาหารไทย

          นายสุภัค หมื่นนิกร ผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร Chairman & Founder สถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร (Food Franchise Institute : FFI) กล่าวว่า ภาพรวมอาหารสตรีต ฟู้ด เมืองไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่องราว 5% ต่อปี เป็นผลมาจากความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ผู้บริโภคนิยมความสะดวกสบายและต้องการรับประทานอาหารที่เข้าถึงง่าย

           “โจทย์ใหญ่ในการสร้างสตรีต ฟู้ด ไทยให้เข้มแข็งคือความสะอาดและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากตรงนี้เองทำให้ต้องมีการร่วมกับ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ในการให้ความรู้ความเข้าใจถึงเรื่องความสะอาดของอาหาร โดยจะมีการจัดระดับสติกเกอร์ให้ตามระดับมาตรฐานที่วางไว้ ซึ่งอุปสรรคใหญ่ของสตรีต ฟู้ดไทยในปัจจุบันคือยังไร้ระบบ ไม่มีการบริหารจัดการที่ดี นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ ทำให้สตรีต ฟู้ดไทยยังไม่สามารถดึงศักยภาพที่ควรจะเป็นออกมาได้มากนัก”

นำนวัตกรรม-เทคโนโลยี ปั้น‘สตรีต ฟู้ด’ ผงาดเวทีโลก

                                       สุภัค หมื่นนิกร

          ทั้งนี้หัวใจหลักของแบรนด์ร้านอาหารที่ต้องประสบความสำเร็จประกอบด้วย 4 อย่าง 1.แบรนดิ้งที่ต้องแข็งแกร่ง 2.แพลตฟอร์มด้านการสื่อสารออนไลน์ 3. From Fram To Fork จากฟาร์มสู่ปากผู้รับประทานที่ต้องพิถีพิถัน 4.การมีบิสิเนสโมเดลที่ดี เพื่อสร้างการเติบโตให้สตรีต ฟู้ดไทย สามารถเติบโตแบบยั่งยืนจนนำไปสู่การขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ต่อไป ไม่เป็นไปตามกระแสเหมือนเช่นหลายธุรกิจในปัจจุบัน

นำนวัตกรรม-เทคโนโลยี ปั้น‘สตรีต ฟู้ด’ ผงาดเวทีโลก

          ล่าสุดได้จับมือกับ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด และสมาคมการค้าธุรกิจอาหารไทย ลงนามข้อตกลง MOU พัฒนาสตรีต ฟู้ด ของไทยสู่อาเซียน โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สตรีต ฟู้ดไทยมีศักยภาพเข้มแข็ง เพื่อการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นแฟรนไชส์ที่มีคุณภาพ โดยจะมีการจัดอบรมสำหรับผู้ประกอบการสตรีต ฟู้ดที่สนใจในช่วงสิ้นเดือนก.ค.นี้ ก่อนจะจัดคอร์สพัฒนาผู้ประกอบการอีก 2-3 ครั้งภายในสิ้นปี ก่อนที่สเต็ปต่อไปจะพัฒนาด้านโลเกชันอย่างพื้นที่การขาย ตลาดนัด ให้มีการพัฒนาร่วมกัน ภายใต้พาร์ตเนอร์ที่หลากหลายขึ้น ทั้งกลุ่มธนาคาร ผู้ค้า เจ้าของพื้นที่ ในการพัฒนาสตรีต ฟู้ด ไทยให้มีคุณภาพและสามารถสร้างผลกำไรตอบแทนที่ดี ก่อนที่จะสานต่อในการพาสตรีต ฟู้ด ไทยขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีต่อไป

          อย่างไรก็ดีปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2562 คาดการณ์ว่ามีมูลค่าประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น การบริโภคภายในประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท เป็นการส่งออก 1.1 ล้านล้านบาท โดยมีประเทศคู่ค้าหลักเป็นกลุ่มอาเซียน รองลงมาได้แก่กลุ่มประเทศอเมริกา เหนือ, แอฟริกา, สหภาพยุโรป และโอเชียเนีย และไทยขยับสถานะจากผู้ส่งออกอันดับ 14 ของโลก ทะยานสู่ผู้ส่งออกอันดับ 12 ของโลกได้ในปีที่ผ่านมา และจากความได้เปรียบด้านวัตถุดิบทำให้ไทยมีความได้เปรียบเรื่องธุรกิจร้านอาหารที่มีมากมายหลากหลายตั้งแต่ระดับภัตตาคารหรู ไปจนถึงร้าน ค้าริมทาง (Street Food) จนสามารถ สร้างชื่อดังไกลไปทั่วโลก 

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3488 ระหว่างวันที่ 18 - 20 กรกฎาคม 2562