เชื่อม2ฝั่งเจ้าพระยาด้วยรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน

19 ก.ค. 2562 | 23:35 น.

 

ใกล้เปิดให้บริการเข้ามาทุกขณะสำหรับรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยายช่วงหัว ลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ เพื่อเชื่อมพื้นที่ฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี ซึ่งจัดเป็นอีกหนึ่งเส้นทางหลังจากช่วงก่อนนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือบีทีเอสเปิดให้บริการมาแล้ว เช่นเดียวกับสายสีแดงช่วง บางซื่อ-ตลิ่งชันที่ใช้รถไฟฟ้าระบบดีเซลทดสอบการให้บริการไปแล้ว

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแคและช่วงเตาปูน-ท่าพระ ล่าสุด สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจิมรถไฟฟ้าขบวนใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนผู้ใช้บริการ ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค มีกำหนดจะเปิดให้บริการภายในเดือน กันยายน 2562 และช่วงเตาปูน-ท่าพระ มีกำหนดจะเปิดให้บริการภายในเดือนมีนาคม 2563

เชื่อม2ฝั่งเจ้าพระยาด้วยรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน

สถานีสามยอดเชื่อม2ใต้ดิน จุดแรกของไทย

รถไฟฟ้าเส้นทางนี้หลายสถานีได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามโดยเฉพาะช่วงใต้ดินตั้งแต่หัวลำโพง-ท่าพระ แต่มี 2 สถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ได้แก่ สถานีสามยอด และสถานีสนามไชย โดยเฉพาะสถานีสามยอดจะเชื่อมต่อกับสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะซึ่งจัดเป็นการเชื่อม 2 รถไฟใต้ดินสายแรกในประเทศไทย ส่วนสถานีสนามไชยจะเชื่อมระบบล้อ ราง เรือ อย่างสมบูรณ์แบบ

เชื่อม2ฝั่งเจ้าพระยาด้วยรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน

“สถานีสามยอด” อยู่ในโซนพื้นที่วังบูรพา ด้านหน้าสถานียังมีการเผื่อพื้นที่สร้างการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงรองรับไว้แล้ว การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก่อสร้างทางเข้า-ออกจำนวน 3 ด้าน คือด้านออกสู่ถนนสนามไชยไปยังสวนรมณีนาถ ออกสู่ถนนเจริญกรุง และออกสู่ถนนอัษฎางค์ ส่วนแนวอุโมงค์จะก่อสร้างซ้อนกันบน-ล่างโดยเมื่อก้าวเข้าไปในโถงชั้นแรกจะเป็นชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารจากนั้นสามารถเลือกเดินทางด้วยลิฟต์โดยสารหรือบันไดลงไปยังชั้นโดยสารในเส้นทางที่จะไปยังเส้นทางท่าพระ-บางแคหรือไปยังหัวลำโพง-บางซื่อ

ไฮไลต์ของสถานีสามยอดไม่เน้นอลังการเช่นสถานีวัดมังกรกมลาวาส หรือสถานีสนามไชย แต่ตามเสาทั้งชั้น 2 และชั้นล่างสุดจะมีภาพบอกเล่าถึงเรื่องราวเก่าๆ ในอดีตไว้ทั้ง 22 ต้น ไม่ว่าจะเป็นย่านเก่าแก่อย่างวังบูรพา สะพานหัน คลองโอ่งอ่าง สถานีหัวลำโพง เสาชิงช้า ศาลาเฉลิมกรุง ฯลฯ ที่ครั้งสมัยนั้นยังมีรถราง ให้บริการจึงมีร่องรอยให้ขุดพบเจอชิ้นส่วนของรางในครั้งนี้ด้วย

ในส่วนสถานีสนามไชยที่อยู่ใกล้กับปากคลองตลาดย่านการค้าเก่าแก่ ซึ่งสถานีมีทางขึ้น-ลงจำนวน 5 ด้านให้ผู้ใช้บริการได้เข้าถึงบริการรถไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น สถานีแห่งนี้จะมีความลึกมากกว่าสถานีอื่นๆ ไฮไลต์การตกแต่งเริ่มตั้งแต่การออกแบบลวดลายบนเพดานแม้จะติดตั้งกระจกแบบโปร่งใสเมื่อโดนแสงแดดจะฉายลายแกะสลักบนกระจกที่เพดานไปยังพื้นดูสวยงามอีกมิติหนึ่งด้วย

เชื่อม2ฝั่งเจ้าพระยาด้วยรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน

 

ชมความอลังการที่ “สนามไชย”

สำหรับความสวยงามของสถานีสนามไชยตั้งแต่ชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารจะได้รับการออกแบบอย่างอลังการด้วยศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น คล้ายท้องพระโรง ติดตั้งบัวจงที่ผนัง ลายพิกุลด้านข้างเสาสะดง ด้านบนเพดานติดตั้งลายดาวล้อมเดือน ลายดอกพุดตาน ใช้เทคนิคสกรีนอย่างสวยงาม ไม่ใช้ทองคำเปลวตกแต่งแต่อย่างใด ด้านข้างกำแพงออกแบบให้มีประตูเปิดเข้า-ออกเสมือนเปิดเข้า-ออกเมืองที่สื่อถึงความรุ่งเรืองสมัยใหม่กับสมัยเก่า โดยสร้างผนังกั้นผนังปูนเอาไว้อีกชั้นหนึ่งพร้อมเป็นจุดติดตั้งระบบประปา ไฟฟ้าของสถานีนั้นๆ จึงสามารถตรวจสอบรอยรั่วได้ผ่านประตูดังกล่าวได้อีกด้วย 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3488 ระหว่างวันที่ 18 - 20 กรกฎาคม 2562