'ฟังเสียงแรงงาน' ไทยยูเนียนแก้ปัญหาทาสยุคใหม่

16 ก.ค. 2562 | 09:18 น.

ปี 2017 บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลจากอังกฤษ 'วีริสค์ เมเปิลครอฟท์' ไดเปิดเผยผลสำรวจและประเมินสถานการณ์ด้านแรงงานใน 198 ประเทศทั่วโลก พบว่าจำนวนประชากรที่ถูกบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส หรือที่เรียกกันว่า 'ทาสยุคใหม่' มีประมาณ 21 ล้านคนทั่วโลก พร้อมเตือนว่าวิกฤตผู้อพยพในยุโรปส่งผลให้เกิดปัญหาทาสยุคใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

'ฟังเสียงแรงงาน' ไทยยูเนียนแก้ปัญหาทาสยุคใหม่

ล่าสุด จากข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความท้าทายที่สำคัญของการเผชิญปัญหาแรงงานทาสยุคใหม่ กับบริษัทต่างๆ ของออสเตรเลียที่เตรียมรับมือกับความเสี่ยงแรงงานทาสยุคใหม่ในห่วงโซ่อุปทานของตนเอง โดยมีการประชุมเรื่อง “การใช้กฎหมายแรงงานทาสยุคใหม่ของออสเตรเลีย – รู้จักห่วงโซ่อุปทานของคุณ” ซึ่งจัดขึ้นโดย Department of Home Affairs ของออสเตรเลีย

การประชุมนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อเช่วยให้นักธุรกิจของออสเตรเลียได้ประเมินและจัดการความเสี่ยงของแรงงานทาสยุคใหม่ในห่วงโซ่อุปทานของพวกเขา และการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายแรงงานทาสยุคใหม่ ฉบับปี 2561 (Commonwealth Modern Slavery Act 2018) โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลออสเตรเลีย กรรมาธิการต่อต้านการค้าทาสของสหราชอาณาจักร ดาม ซาร่า ธอร์นตัน และบริษัทระดับโลกต่างๆ เช่น แอปเปิ้ล อิเกีย เนสท์เล่ ฮิลตัน และอาดิดาส 

ดร. แดเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการองค์กรและความยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวในที่ประชุมว่า ภาคธุรกิจต้องทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และบริษัทอื่นๆ เพราะเพียงแค่บริษัทเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแรงงานทาสยุคใหม่ได้โดยลำพัง บริษัทต่างๆ สามารถดำเนินการและปฏิบัติตามนโยบายความยั่งยืนได้ เพียงใช้ความร่วมมือและการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลาย บวกความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ซึ่งสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนอย่างแท้จริง

เมื่อกล่าวถึงแรงกดดันที่ประเทศไทยต้องเผชิญในปี 2558 เพื่อดำเนินการเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ดร.แดเรี่ยน แสดงความคิดเห็นว่า แม้ว่า สภาพแวดล้อมจะมีความท้าทายอย่างมาก แต่มองว่านี้คือ โอกาสที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกตลอดทั้งอุตสาหกรรมประมงทั่วโลก และอยากให้ไทยยูเนี่ยนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้ 

สิ่งที่สำคัญตลอดทั้งกระบวนการนี้คือ การรับฟังเสียงของแรงงาน ซึ่งเป็นหัวใจของการต่อสู้กับแรงงานทาสยุคใหม่และการบังคับใช้แรงงาน เพื่อจะได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงกำลังเกิดขึ้น กลยุทธ์ความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน หรือ SeaChange® ซึ่งนอกจากจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในบริษัทแล้ว ยังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในวงกว้างด้วยเช่นกัน โดยช่วยให้โลกบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

“การกำหนดให้ความยั่งยืนเป็นหัวใจของการทำธุรกิจ นั่นไม่ใช่การทำสิ่งที่ถูกต้องตามจริยธรรมและศีลธรรมเท่านั้น แต่เป็นการทำสิ่งที่ถูกต้องสำหรับธุรกิจของไทยยูเนี่ยนในอนาคต” ดร. แดเรี่ยน กล่าว

'ฟังเสียงแรงงาน' ไทยยูเนียนแก้ปัญหาทาสยุคใหม่