ศิลปะอลังการอันงดงาม เรือพระราชพิธีฯ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

27 ก.ค. 2562 | 10:10 น.

แม่น้ำเจ้าพระยามีความสำคัญต่อประชาชนชาวไทยในทุกยุคทุกสมัย  และหนึ่งในพระราชพิธีที่สำคัญที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ แม่น้ำสายดังกล่าวเป็นสื่อกลางสำหรับการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562 

ศิลปะอลังการอันงดงาม เรือพระราชพิธีฯ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ความหมาย-ความเป็นมา ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

  จากข้อมูลของสารานุกรมไทยระบุไว้ว่า กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค หมายถึง ริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์ และที่เป็นการพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ซึ่งได้ประกอบการมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย และสืบทอดต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ และมาจนถึงปัจจุบัน

  ทั้งนี้กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคยังเป็นการแสดงออกถึง ความเป็นเอกลักษณ์ ทางด้านวัฒนธรรมประเพณีอย่างหนึ่งของชาติ และพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้ทรงแสดงพระบารมีแผ่ไพศาล โดยในบางยุคสมัยมีการใช้เรือในกระบวนพระราชพิธีดังกล่าวกว่า 100 ลำ แต่ในยุคปัจจุบันมีจำนวน 52 ลำ แบ่งเป็นเรือพระที่นั่งและเรือในริ้วกระบวน โดยในทุกลำมีการออกแบบและแกะสลักปิดทองเป็นลวดลายวิจิตรสวยงาม

 

ศิลปะเรือพระที่นั่ง สำหรับเรือพระที่นั่งในปัจจุบันประกอบไปด้วย 4 ลำ ได้แก่ 

ศิลปะอลังการอันงดงาม เรือพระราชพิธีฯ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ 

ถือเป็นเรือพระที่นั่งกิ่งลำแรก ที่ต่อขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ชื่อของเรือมีความคล้ายกับเรือพระที่นั่งชื่อ สุวรรณหงส์ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถัดมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อใหม่เพื่อประกอบพระราชพิธี ลักษณะของลำเรือ โขนเรือเป็นรูปหงส์ จำหลักลายปิดทอง ลำเรือด้านนอกทาสีดำ ภายในทาสีแดง ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง

หลายคนอาจสงสัยว่าเรือพระที่นั่งกิ่ง คืออะไร จริงๆ แล้วหมายถึง จากข้อมูลของช่างสิบหมู่ระบุไว้ว่า เรือพระที่นั่งกิ่งเป็นเรือชั้นสูงสุดของเรือพระที่นั่ง  ซึ่งจะสวยงามเป็นพิเศษ มีความเป็นมาว่ากษัตริย์ไทยในสมัยอยุธยาพระองค์หนึ่ง ได้รับชัยชนะกลับจากสงคราม  มีผู้หักกิ่งไม้มาปักไว้ที่หัวเรือ นับแต่นั้นมา ก็มีการเขียนลายกิ่งไม้ประดับที่หัวเรือ

ศิลปะอลังการอันงดงาม เรือพระราชพิธีฯ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

เป็นเรือพระที่นั่งบัลลังก์นาค 7 เศียร ต่อในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ถือเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ลักษณะของเรือโขนเรือเป็นรูปพญานาค 7 เศียร จำหลักลายปิดทองประดับกระจกภายนอกทาสีเขียวภายในทาสีแดง

ศิลปะอลังการอันงดงาม เรือพระราชพิธีฯ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ 

เป็นเรือพระที่นั่งศรีต่อในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ลักษณะของลำเรือ โขนเรือเชิดเรียว ลำเรือภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง หัวเรือลงรักปิดทองลายรดน้ำเป็นรูปนาคตัวเล็กๆ จำนวนมาก ตอนกลางลำเรือมีราชบัลลังก์กัญญา ซึ่งเป็นที่ประทับเปลื้องเครื่องหรือเปลื้องพระชฎามหากฐินของพระเจ้าอยู่หัว ก่อนเสด็จขึ้นหรือลงเรือพระที่นั่งอีกลำ ในอดีตใช้สำหรับการเสด็จฯ ลำลอง ไม่ได้นำเข้ากระบวนพระราชพิธี ต่อมาภายหลังได้นำเข้ากระบวนพยุหยาตราด้วยเช่นกัน

ศิลปะอลังการอันงดงาม เรือพระราชพิธีฯ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9  

เป็นเรือพระที่นั่งจัดสร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช โขนเรือจำหลักรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงเทพศาสตรา ตรี คฑา จักร สังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์ และ มงกุฎยอดชัย ประทับยืนบนหลังพญาครุฑ ปิดทอง ประดับกระจก พื้นลำเรือทาสีแดงชาด ลำเรือแกะสลักลงรัก ปิดทองประดับกระจก เขียนลายดอกพุดตาน โดยทางกองทัพเรือ ร่วมกับ กรมศิลปากร และสำนักพระราชวัง ดำเนินการจัดสร้างในวโรกาส 50 ปี แห่งการครองราชย์ของรัชกาลที่ 9

สำหรับเรืออื่นๆ นอกจากเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ซึ่งประกอบในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เรียกว่า เรือเหล่าแสนยากร

ศิลปะอลังการอันงดงาม เรือพระราชพิธีฯ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

การจัดริ้วกระบวนฯ

  ในสมัยอยุธยาอ้างอิงจากหนังสือ “ริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารค สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” ระบุไว้ว่าริ้วกระบวนเรือ เรียงตามลำดับจากต้นกระบวนถึงท้ายกระบวน โดยต้นกระบวนได้แก่เรือไชยจากกรมต่างๆ ซึ่งนำหน้าเรือพระที่นั่งของพระมหากษัติย์  จากนั้นปิดท้ายด้วยเรือแซและเรือรูปสัตว์ต่างๆ ซึ่งแสดงออกถึงความมั่งคั่งโอ่อ่า

ศิลปะอลังการอันงดงาม เรือพระราชพิธีฯ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

  สำหรับปัจจุบันในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 นี้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เผยว่า พระราชพิธีนี้จัดรูปขบวนเรือพระราชพิธีตามรูปแบบโบราณราชประเพณีทุกประการแบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สายประกอบด้วย ริ้วสายกลาง ริ้วสายใน ริ้วสายนอก

พระราชพิธีครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จะประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โดยจะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 24 ตุลาคม 2562  เส้นทางเสด็จพระราชดําเนินเริ่มจากท่าวาสุกรีถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร รวมระยะทาง 4.2 กม.

ศิลปะอลังการอันงดงาม เรือพระราชพิธีฯ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

นับเป็นการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งแรกในรัชกาล  ควรค่าแก่การชื่นชมพระบารมี ชื่นชมความสวยงาม ชื่นชมอารยธรรมวัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่ของประเทศไทย ซึ่งมีรากเหง้าอารยธรรมที่สืบทอดมากว่า 700 ปี

 

ศิลปะอลังการอันงดงาม เรือพระราชพิธีฯ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค