กฟผ. - RATCH ชิงเซ็นสัญญา ตบหน้า 'สนธิรัตน์'

19 ก.ค. 2562 | 10:44 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3489 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 21-24 ก.ค.2562 โดย...กระบี่เดียวดาย

 

กฟผ. - RATCH ชิงเซ็นสัญญา

ตบหน้า‘สนธิรัตน์’

                  ท่ามกลางฝุ่นตลบของการตั้งครม.โดยวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯรายชื่อครม.ชุดประยุทธ์ 2 ก่อนเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณรับหน้าที่วันที่ 16 กรกฎาคม 2562 และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 หลังแถลงนโยบายเสร็จสิ้น ครม.ชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์

                  แต่ในเชิงนโยบาย หรือการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือที่คาบเกี่ยวเอกชนนั้น โดยหลักการ โดยสปิริต หน่วยงานพวกนี้จะต้องไม่เซ็นลงนามอะไรที่เป็นข้อผูกมัด มัดมือมัดเท้ารัฐมนตรีคนใหม่ไม่ให้ดิ้นหรือแก้ไขอะไรได้ อย่างน้อยควรให้เกียรติรัฐมนตรีคนใหม่ได้ผ่านหูผ่านตาหรือรับรู้รับทราบเสียก่อนลงมือ โดยเฉพาะข้อสัญญา ข้อผูกมัดนั้น ถ้าไม่เซ็นก็ไม่ถึงกับเสียหายร้ายแรง

                  การณ์กับปรากฏว่าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้เซ็นสัญญากับบริษัทหินกองพาวเวอร์ฯ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทหินกองพาวเวอร์ฯ เป็นบริษัทลูกที่บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้น 100% โดยบริษัทได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ.เป็นระยะเวลา 25 ปี พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง กำลังผลิต 2x700 เมกะวัตต์หรือ 1400 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

                  บริษัทหินกองฯ เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 นับจากวันตั้งบริษัทถึงวันเซ็นสัญญาวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 เพียงแค่ 39 วันคว้างานใหญ่ระดับหมื่นล้านบาท

                  อะไรจะรีบร้อนขนาดนั้น! ที่สำคัญเป็นการเซ็นสัญญาหลัง สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นรัฐมนตรีพลังงานเพียง 2 วัน

                  เสมือนตบหน้าสนธิรัตน์ ฉาดใหญ่ เซ็นสัญญาไปแล้ว ประกาศไปแล้ว ประหนึ่งว่าไม่ต้องการให้รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่เข้าไปยุ่มย่าม ตีกันไว้ก่อนอย่าสอดเท้าเข้าไป

                  ต้องย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปเรื่องนี้ สืบเนื่องจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือพีดีพีฉบับใหม่ที่ให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาแนวทางการจัดหาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผนพีดีพี ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับซื้อไฟฟ้า ระยะเวลา พื้นที่ ปริมาณและราคารับซื้อไฟฟ้า เทคโนโลยีและเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้ ความพร้อมและการยอมรับชนิดของเชื้อเพลิงในด้านสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องนำกลับมาเสนอกพช.อีก

                  หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้อนุมัติให้สิทธิบริษัท RATCH ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตก 2 โรง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1,400 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องเปิดประมูลแข่งขันราคากับเอกชนรายอื่น

                  คำถามคือเหตุใดกบง.ที่ผ่านมาต้องดำเนินการอย่างเร่งรีบ ในการให้สิทธิก่อสร้างโรงไฟฟ้าไปถึง 2 โรง หากเป็นเพียงโรงเดียว อาจตอบคำถามได้ว่าเป็นการสร้างทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ที่จะหมดอายุในปี 2563 แต่ที่โผล่มาอีก 1 โรง ขนาดกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องประมูล และที่สำคัญไม่อาจทราบได้ว่าค่าไฟฟ้าที่เสนอขายมานั้นตํ่าจริง เพราะไม่ได้เปรียบเทียบกับรายอื่นๆ หรือมีคู่เทียบ

                  การเจรจาค่าไฟฟ้านั้นก็ดำเนินงานแบบเร่งรัด ต่างจากในอดีตที่เจรจาแล้วเจรจาอีก เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ว่าง่ายๆ ว่าประชาชนต้องไม่เดือดร้อนรับภาระจากค่าไฟฟ้าที่สูงเกินไป

                  ว่าด้วยดีลนี้สร้างความประหลาดใจให้ผู้คนในแวดวงพลังงานเป็นอย่างมาก 

                  ประหลาดใจในความรวบรัด ประหลาดใจที่ลึกลงไปว่าจะจัดหาก๊าซจากที่ไหนป้อนโรงไฟฟ้า เมื่อยังไม่มีการเซ็นสัญญากับเจ้าของก๊าซรายใหญ่อย่างปตท.

                  ทำไมถึงเร่งลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ใช่เพื่อป้องกันการร้องเรียน หรือหากเกิดการร้องเรียน ก็ไม่สามารถดำเนินการรื้อสัญญาได้หรือไม่

                  ที่ไม่ประหลาดใจและแน่ชัด เป็นสนธิรัตน์ ที่ถูกตบหน้าฉาดใหญ่ ต้องติดตามดูใกล้ชิด ดีลนี้จะจบอย่างไร ผ่านมาแล้วผ่านเลยหรือไม่ เป็นไปตามที่ใครต้องการหรือไม่ แล้วประชาชนได้เสียอย่างไรกับดีลนี้