หวั่นแล้งลากยาว ทุบศก.หมื่นล้าน

21 ก.ค. 2562 | 09:00 น.

จับตาภัยแล้งลากยาว ทุบเศรษฐกิจเสียหายหมื่นล้าน ข้าว ยาง มัน ผลผลิตวูบ กระทบกำลังซื้อฐานราก ลามภาคส่งออกขาดแคลนวัตถุดิบ ข้าว 7 ล้านไร่ลุ่มเจ้าพระยาเสี่ยงยืนต้นตาย หลัง 4 เขื่อนใหญ่นํ้าใช้การได้เหลือแค่ 9%

 

ภาวะภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ของประเทศ เป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเข้ามาบริหารจัดการ ข้อมูลจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2562 ระบุมีเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศที่มีปริมาณนํ้าตํ่ากว่า 30% ของความจุถึง 17 เขื่อน ในจำนวนนี้ 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มนํ้าเจ้าพระยา(ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์) เหลือนํ้าใช้การได้เฉลี่ยเพียง 9% เท่านั้น

 

ข้าว 7 ล้านไร่เสี่ยง

ส่วนข้อมูลกรมชลประทาน ถึงแผนและผลการเพาะปลูกพืช (ข้าวนาปี) ลุ่มนํ้าเจ้าพระยา ได้วางแผนเพาะปลูกข้าวนาปีรวม 7.65 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้ว 6.21 ล้านไร่ คิดเป็น 81.14% ของแผน เก็บเกี่ยวไปแล้ว 5.8 หมื่นไร่ คิดเป็น 0.93% ของผลการเพาะปลูก และพื้นที่ลุ่มตํ่า 13 ทุ่งเจ้าพระยา วางแผนเพาะ ปลูกข้าวนาปีรวม 1.532 ล้านไร่ คิด เป็น 10% ของแผน ปัจจุบันเก็บเกี่ยวไปแล้ว 5.8 หมื่นไร่ ซึ่งหากรวมทั้ง 2 ส่วนมีข้าวที่ปลูกแล้วและ ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว เสี่ยงเสียหายจากภัยแล้งกว่า 7.62 ล้านไร่

 

ขณะข้อมูลของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร (ณ วันที่ 19 ก.ค.62) ระบุอีกว่า ภัยแล้งกับผลกระทบการเกษตรด้านพืชปัจจุบันมี 8 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย เชียงราย พิจิตร อุตรดิตถ์ ตาก น่าน และสุพรรณบุรี เกษตรกรได้รับผลกระทบ 22,709 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 131,973 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 34,917 ไร่ พืชไร่ 43,455 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 53,602 ไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว 6 จังหวัด (พิษณุโลก สุโขทัย เชียงราย พิจิตร ตาก และน่าน) เกษตรกร 6,768 ราย พื้นที่ 40,072 ไร่ คิดเป็นวงเงิน 46.38 ล้านบาท รัฐจ่ายเยียวยาแล้ว 20.98 ล้านบาท

 

หวั่นศก.เสียหายหมื่นล.

ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่ส่อเค้ารุนแรงปีนี้ แม้รัฐบาลจะยังไม่ประกาศเตือนภัยครอบคลุมทั่วประเทศ จากมีปัญหาเฉพาะบางพื้นที่ในหลายจังหวัด เวลานี้มองว่ายังส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่กระทบกับผลผลิตภาคการเกษตร ส่วนภาคปศุสัตว์ยังกระทบน้อย 

 

ดังนั้นประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวลานี้ยังเป็นหลักพันล้านบาท แต่หากสถานการณ์มีความยืดเยื้อรุนแรงไปอีก 2-3 เดือนความเสียหายต่อเศรษฐกิจอาจถึงหลักหมื่นล้านบาท (จากปี 2558 ที่เกิดวิกฤติภัยแล้งรุนแรงรอบ 20 ปี ทางศูนย์ฯประเมินผลกระทบที่ 6.8 หมื่นล้านบาท จากผลผลิตข้าวนาปี และนาปรังที่ลดลง) เรื่องนี้รัฐบาลชุดใหม่ต้องติดตามแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด

 

ยาง-มันวูบทุบกำลังซื้อ

นายเทอดศักดิ์ เสริมศรี ประธานกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อผลผลิตยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ลดลงถ้วนหน้า เพราะสภาพอากาศที่แล้งมาก

 

ทำให้นํ้ายางลดลง ขณะที่ราคายางพาราก็ลดลง พื้นที่ศรีสะเกษที่ขายเป็นยางก้อนถ้วยเป็นส่วนใหญ่ได้ราคาเพียง 20-21 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) จากเปิดกรีดช่วงแรกๆ ในเดือนพฤษภาคมยังขายได้เกือบ 30 บาท/กก.เจ้าหน้าที่การยางแห่งประเทศไทยในพื้นที่บอกเป็นผลจาก 5 บริษัทผู้ส่งออกยางรายใหญ่กดราคาอยากให้รัฐบาลใหม่ได้หาทางช่วยเหลือเร่งด่วน

 

สอดคล้องกับนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าในภาคอีสานซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิแหล่งใหญ่สุดของประเทศ ปกติจะปลูกข้าวนาปีช่วงเดือนสิงหาคม และไปเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคมของปีหน้า เวลานี้ห่วงเกษตรกรไม่มีนํ้าทำนา ที่ปลูกแล้วก็เสี่ยงเสียหาย ดังนั้นจึงคาดว่าเป้าหมายแผนการผลิตข้าวปีการผลิต 2562/2563 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 34.16 ล้านตันข้าวเปลือกจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

 

นางสุรีย์ ยอดประจง อดีตนายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า จากการสำรวจผลผลิตมันสำปะหลังปี 2561/2562 เดิมคาดการณ์ไว้ที่ 29.97 ล้านตัน ถึงเวลานี้คงไม่เป็นไปตามคาดการณ์ จากผลกระทบภัยแล้ง มันสำปะหลังหลายพื้นที่มีการระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง(CMD) ทำให้ผลผลิตลดลง เวลานี้แม้เกษตรกรจะขายหัวมันสดได้ราคาดี 2.50-3 บาท/กก.จากโรงงานแป้งมันแย่งซื้อเพื่อ ผลิตส่งออกตามคำสั่งซื้อลูกค้า แต่หากเกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่ลดลงก็น่าเสียดายโอกาส

 

ลามส่งออกขาดวัตถุดิบ

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ภัยแล้งและโรค แมลงต่างๆ กระทบวัตถุดิบพืชเกษตรป้อนโรงงานแปรรูปลดลง สวนทางกับราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ทั้งสับปะรด ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดอ่อน มะพร้าว ผักและผลไม้ต่างๆ กระทบความสามารถการแข่งขัน ซึ่งผู้ประกอบการได้ช่วยเหลือตัวเองโดยการลดกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณวัตถุดิบ และใช้สต๊อกสินค้าที่ผลิต ไว้ต้นปีในการทำตลาด โดยหวังสถานการณ์ภัยแล้งจะดีขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3489 วันที่ 21-24 กรกฎาคม 2562

หวั่นแล้งลากยาว  ทุบศก.หมื่นล้าน