เร่งแก้ปัญหาปากท้อง สำคัญกว่ารื้อรธน.

21 ก.ค. 2562 | 04:07 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3489 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 21-24 ก.ค.2562 โดย... ว.เชิงดอย
 

เร่งแก้ปัญหาปากท้อง สำคัญกว่ารื้อรธน.


          .....ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ออกระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันที่ 25-26 กรกฎาคมนี้ และหากการอภิปรายไม่แล้วเสร็จ สามารถอภิปรายต่อได้ในวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พร้อมตีกรอบการอภิปรายต้องเป็นประเด็นความเป็นไปได้ของนโยบายหรือการประสบความสำเร็จของนโยบาย... หาก “แหลม” ออกไปจากนี้ก็จะถูกสั่ง “เบรก” ว่าอย่างนั้นเถอะ แต่เอาเข้าจริงๆ จะห้ามปรามได้มากน้อยแค่ไหน เพราะ “ฝ่ายแค้น” เอ๊ย...“ฝ่ายค้าน” คงจะใช้ “เวที” นี้ ถล่มไปที่ตัว “รัฐมนตรี” มากกว่า “เวทีนโยบาย” ก็จะกลายเป็น “เวทีซักฟอกรมต.” แน่นอน...

          .....เห็น พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย (พท.) ก็ออกมาบอกแล้วว่า ฝ่ายค้านวางกรอบอภิปราย 3 หัวข้อใหญ่คือ 1.ตัวนโยบายที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาลที่หลากหลายบนการต่อรองผลประโยชน์ จึงขาดเอกภาพทางความคิด นโยบายที่ออกมาน่าจะขาดความแหลมคม ลุ่มๆ ดอนๆ ขายผ้าเอาหน้ารอดเท่านั้น 2.ตัวบุคคลคือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคนมีคุณสมบัติสีเทา ขัดจริยธรรมและอยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยเฉพาะตัวนายกฯ ที่อยู่ระหว่างรอศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ หากคำตอบออกมาว่าเป็น ก็จะขาดคุณสมบัติที่จะเป็นนายกฯ เพราะขัดรัฐธรรมนูญทำให้รัฐบาลจบเห่ และนโยบายที่แถลงก็เป็นฝันค้างเท่านั้น

           .....และ 3.ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญที่บางพรรคการเมืองใช้เป็นเหตุผลเข้าร่วมรัฐบาล โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดการแก้ไข หากไม่ปรากฏในนโยบายก็ไม่สมควรอาสารับใช้ประชาชนอีกต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญถือเป็นรากฐานของการสร้างความเชื่อมั่น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเป็นเงื่อนไขให้ความไม่ปรองดองเกิดขึ้น สร้างกลไกที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ทั้ง 3 หัวข้อนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ยึดโยงกัน การอภิปรายต่อการแถลงนโยบายรัฐบาล จึงเสมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปในตัวอย่างช่วยไม่ได้

          .....ฝ่ายค้านยังแบ่งกลุ่มที่จะอภิปรายนโยบายรัฐบาล จะแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม คือ 1.ด้านเศรษฐกิจ อาทิ สินค้าเกษตรราคาตกตํ่า ระบบคมนาคม รายได้ท่องเที่ยวที่ลดลง ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่ามีปัญหาอย่างไร 2.ด้านการเมือง อาทิ กฎหมาย หลักธรรมาภิบาล กรอบคุณธรรม จริยธรรม การทุจริตคอร์รัปชัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคุณสมบัติของรัฐมนตรี 3.ด้านความมั่นคง อาทิ สิทธิเสรีภาพของประชาชน และการควบคุมสิทธิเสรีภาพด้านโซเชียล 4.ด้านสังคม อาทิ การสาธารณสุขของประเทศ ปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็ก สตรี และคนชรา รวมถึงความไม่พร้อมที่จะนำนโยบายกัญชามาใช้กับประเทศไทย 5.ด้านการศึกษา และ 6.ด้านการกระจายอำนาจ อาทิ การลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ว่าควรจะใช้อำนาจอย่างไร

           .....ส่วนรัฐมนตรีที่มีปัญหา ฝ่ายค้านได้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ 1.กลุ่ม 3 ป.คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กลุ่มที่ 2 กลุ่มรัฐมนตรีที่มีคดีค้างอยู่คือ อุตตม สาวนายน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล มนัญญา ไทยเศรษฐ์ และ นิพนธ์ บุญญามณี กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีคดีกบฏและเคยร่วมเดินขบวนล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคือ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และกลุ่มที่ 4 กลุ่มรัฐมนตรีที่ถือหุ้นสื่อคือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล สาธิตปิตุเตชะ และ เทวัญ ลิปตพัลลภ ... ฝ่ายค้านเปิด “โจทย์” ออกมาแล้ว “นายกฯ” และ “รมต.” ที่อยู่ในเป้าหมาย เตรียมตัวรับมือและตอบคำถามไว้ให้ดีก็แล้วกัน 

          .....อ่า...และแล้วการ “แก้รัฐธรรมนูญ” ก็กลายเป็น 1 ในนโยบายเร่งด่วนที่ถูกบรรจุไว้นโยบายของรัฐบาล ที่จะต้องดำเนินภายใน 1 ปี สมใจหวัง “พรรคประชาธิปัตย์” เขาหล่ะ เพราะเป็น 1 ใน 3 เงื่อนไขของการเข้าร่วมรัฐบาลที่มี “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นผู้นำรัฐนาวา แต่ในความเห็นของ เนติบริกร อย่าง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า คำว่า “เร่งด่วน” คือต้องรีบทำอยู่แล้ว แต่ต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ อาจเป็นเรื่องที่ต้องทำก่อน นโยบายไหนที่เป็นเรื่องเร่งด่วนแล้วรัฐบาลเชื่องช้า สภาสามารถตั้งกระทู้ถามได้... ขืนให้ความสำคัญและพูดกันแต่เรื่อง “แก้รัฐธรรมนูญ” ในขณะที่ประชาชนยังมีปัญหาเรื่องปากท้อง เรื่องทำมาหากินฝืดเคือง ระวังเถอะประชาชนทนไม่ไหว จะถูกขับไล่เอาได้นะเออ...