เทรดวอร์ยังพ่นพิษไม่เลิก ส่งออกไทยครึ่งทางติดลบ2.9%

22 ก.ค. 2562 | 05:56 น.

ส่งออกไทยยังติดลบต่อเนื่อง ครึ่งปี -2.9% ปัจจัยหลักจากสงครามการค้าฉุดความเชื่อมั่น  สินค้าอุตสาหกรรมกระทบหนักสุด พาณิชย์มั่นใจไตรมาส 3 น่าจะขยายตัว 0-2%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยถึง การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2562 ว่า มีมูลค่า 21,409 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลงหรือติดลบ 2.15%  เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 18,197 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 9.4% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 3,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนภาพรวมการส่งออกไทย 6 เดือนแรกปี 2562 มีมูลค่า 122,971 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 119,027 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ2.4% ภาพรวม 6 เดือนแรกการค้าไทยยังเกินดุล 3,943 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้สาเหตุสำคัญมาจากการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมไปถึงความขัดแย้งของประเทศคู้ค่าอื่น ๆ ยังเป็นสถานการณ์ซ้ำเติมบรรยากาศการค้าโลก ทำให้เกิดความไม่แน่นอนและความกังวลของผู้บริโภคและนักลงทุนทั่วโลกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และยังมีโอกาสขยายตัวได้ดีในหลายตลาด เช่น สหรัฐฯ อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น

เทรดวอร์ยังพ่นพิษไม่เลิก ส่งออกไทยครึ่งทางติดลบ2.9%

 สำหรับรายสินค้า พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารยังขยายตัว โดยเฉพาะการส่งออกยางพารากลับมาขยายตัวและมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งปริมาณและราคา นอกจากนี้เครื่องเทศและสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี อาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ และเครื่องดื่ม ขยายตัวดี ด้านสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากจำนวนนักเที่ยวท่องเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องสำอางขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและของใช้ในบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวและน่าจับตามอง ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ และโทรทัศน์ และนาฬิกาและส่วนประกอบ

เทรดวอร์ยังพ่นพิษไม่เลิก ส่งออกไทยครึ่งทางติดลบ2.9%

ส่วนแนวโน้มการส่งออกในครึ่งหลังของปี 2562 ยอมรับว่ายังมีความท้าทาย แต่ทั้งนี้มั่นใจว่าด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่ดีในสายตาของต่างชาติ  โอกาสทดแทนสินค้าจากการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าของประเทศต่าง ๆ สินค้าที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี และมีโอกาสส่งออกเพิ่มในพื้นที่การค้าใหม่ ตามนโยบายส่งเสริมการค้าเชิงรุกเจาะรายพื้นที่

เทรดวอร์ยังพ่นพิษไม่เลิก ส่งออกไทยครึ่งทางติดลบ2.9%

ขณะที่ปัจจัยลบที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น ความยืดเยื้อของข้อพิพาททางการค้า ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในการเจรจาหาข้อยุติ  การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจปี 2562 จะขยายตัวที่3.3% ซึ่งขยายตัวต่ำสุดนับจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551-2552 การลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก อันเป็นผลกดดันให้ราคาสินค้าเกษตรส่งออกของไทยอยู่ระดับต่ำ  การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายของประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจของโลก ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าครึ่งปีแรกและมีความผันผวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และวัฏจักรสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญอยู่ในช่วงขาลง โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงความท้าทายกับการปรับตัวเข้าสู่การผลิตเพื่อให้ตรงกับความต้องการสินค้าใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

“กระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันการส่งออกปี 2562 ในระยะเร่งด่วน โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนกระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการส่งออก เพื่อผลักดันให้การส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวได้มากขึ้น โดยในไตรมาส 3 เชื่อว่าการส่งออกน่าจะกลับมาขยายตัวดีขึ้น หากสามารถทำได้เดือนละ 20,000 -21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็น่าจะขยายจะตัวได้ที่ 0-2%”

นอกจากนี้ จะใช้นโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศนำสินค้าไทยเข้าไปด้วย และกลยุทธ์เจาะตลาดรายพื้นที่ โดยขยายโอกาสการส่งออกในตลาดที่แข็งแกร่ง เช่น สหรัฐฯ และอินเดีย และเปิดตลาดใหม่ที่เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น แคนาดา รวมทั้งเร่งขยายความร่วมมือและเจรจาความตกลงทางการค้า การรักษามาตรฐานสินค้า ขยายช่องทางการขายสู่ออนไลน์ ตลอดจนให้ความสำคัญกับสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออกทดแทน อาทิ สินค้าเกษตร ประมงและอาหาร (สดและแปรรูป) ไก่ 

เทรดวอร์ยังพ่นพิษไม่เลิก ส่งออกไทยครึ่งทางติดลบ2.9%

 

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรพบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 9% โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัวได้ดีเช่น ยางพารา ขยายตัว 11.8% ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ อินเดีย ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ เครื่องดื่ม ขยายตัว2.8% ขยายตัวในตลาดกัมพูชา จีน ลาว สิงคโปร์ และเกาหลีใต้  ส่วนสินค้าเกษตรที่หดตัว ได้แก่ ข้าว ติดลบ 34.6%  ในตลาดเบนิน แอฟริกาใต้ และฮ่องกง แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ และจีน  น้ำตาลทราย ติดลบ 19.4% ในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และซูดาน แต่ยังขยายตัวในตลาดมาเลเซีย กัมพูชา และจีน เป็นต้น ซึ่งภาพรวม 6 เดือนแรกของปี 2562 สินค้าเกษตรติดลบ 2.2%

 

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมมูลค่าการส่งออกกลับมาขยายตัวที่ 0.04%  สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ทองคำ ขยายตัว 317.4% ขยายตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย และอินเดีย สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวเกือบทุกตลาดที่ 22% ทั้งในตลาดจีน กัมพูชา เวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวในตลาดมาเลเซีย และเกาหลีใต้

 สำหรับการส่งออกในตลาดสำคัญ ๆ ส่วนใหญ่ยังได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีการนำเข้าของสหรัฐฯ และจีน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงต่อสินค้าที่ถูกปรับขึ้นภาษี และผลกระทบทางอ้อมผ่านเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลง และบรรยากาศการค้าที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกของโลกและไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักติดลบ 3.7% เป็นผลจากการส่งออกไปญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปลดลง ส่วนตลาดศักยภาพติดลบ7.9%  สาเหตุมาจากการส่งออกไป จีน  CLMV และอาเซียน-5 ลดลง อย่างไรก็ตามสำหรับตลาดศักยภาพระดับรองลดลง 9.1%