เปิดเบื้องหลังตั้งองค์กรกึ่งอิสระถอนขนห่าน

22 ก.ค. 2562 | 07:52 น.

ถอดรหัสแนวคิดจัดตั้งองค์กรกึ่งอิสระเก็บภาษี รับปฏิรูปรวบ3 กรมจัดเก็บอยู่ที่เดียว หวังเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี หลังพบต้นทุนสูงถึง 2% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีต้นทุนเฉลี่ยเพียง 1.04%

กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางกรณีเอกสารคำแถลงนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะแถลงต่อรัฐสภา ในวันพฤหัสบดีที่ 25กรกฎาคม 2562 ระบุถึงนโยบายเศรษฐกิจมหภาค การเงินและการคลังว่าจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งหน่วยงานจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระขึ้น

 

อันที่จริงข้อเสนอจัดตั้ง “หน่วยงานกึ่งอิสระจัดเก็บภาษี” หรือ SARA (Semi-autonomous Revenue Agency) ไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเด็นนี้เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงตั้งแต่ปี 2558 ในงานสัมมนาทางวิชาการของ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)  เพื่อให้โครงสร้างหน่วยงานบริหาร จัดเก็บภาษีมีความยืดหยุ่น และสามารถนําไปสู่การลดต้นทุนการบริหารงานภาษี การบริการผู้เสีย ภาษีที่ดีขึ้น การขยายฐานภาษีและการจัดเก็บรายได้อย่างมืออาชีพมากขึ้น นําไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและ ดูแลสวัสดิการของประชาชนไทยอย่างจริงจังและยั่งยืน

 

สมชัย สัจจพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง อธิบายว่า การจัดตั้งหน่วยงานจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระนั้น จะมีการโอนย้ายเจ้าหน้าที่ที่มีประสิทธิภาพด้านการกำหนดนโยบายภาษีของทั้ง 3 กรมจัดเก็บภาษี ทั้งกรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต มารวมอยู่ในองค์กรเดียวกัน เพื่อตั้งเป็นองค์กรอิสระเหมือนกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีเลขาธิการ ทำหน้าที่บริหาร มีคณะกรรมการกำกับดูแลเองเหมือนอธิบดีที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม อิสระในการบริหารงานบุคคล แต่งตั้งโยกย้าย โดยมีกระทรวงการคลังเป็นคนกำหนดนโยบายภาษี

หากมีหน่วยงานจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระเกิดขึ้น จะทำให้การจัดเก็บรายได้ภาษีต่อจีดีพีของประเทศที่ไม่สูงมากนักในปัจจุบันจะสูงขึ้น เพราะประสิทธิภาพจัดเก็บดีขึ้น โดยในปี 2504-2527 ไทยมีรายได้ภาษีต่อจีดีพีอยู่ที่ 13.3% และในช่วง ปี 2535-2560 ตัวเลขเพิ่มเป็น 17.9% ซึ่งสูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับทั่วโลก แล้วไทยอยู่ในอันดับที่ 62 จาก 127 ประเทศทั่วโลก แสดงว่า ศักยภาพการจัดเก็บภาษีไม่ดีนัก เมื่อเทียบ 127 ประเทศ

 

เปิดเบื้องหลังตั้งองค์กรกึ่งอิสระถอนขนห่าน

นอกจากนั้นต้นทุนการจัดเก็บภาษีของแต่ละกรมยังพบว่า รายได้การจัดเก็บต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ในอัตราที่สูง โดยกรมสรรพากรอยู่ที่ 1% กรมสรรพสามิต 1.4% และกรมศุลกากรอยู่ที่ 3% เมื่อรวมทั้ง 3 กรมจะมีต้นทุนในการจัดเก็บภาษีเฉลี่ยที่ 2% เมื่อเทียบกับต่างประเทศเฉลี่ยที่ 1.04% เท่านั้น สะท้อนว่าต้นทุนเราสูงกว่าเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ทั้งต้นทุนการจัดเก็บที่สูง ต้นทุนคนเสียภาษีเองก็สูงด้วย

“จึงเป็นที่มาที่ไปว่า เราน่าจะเป็นหน่วยงานภาษีกึ่งอิสระ โดยหน่วยงานนี้ต้องยืดหยุ่นลดต้นทุนจัดเก็บ เพิ่มการอำนวยความสะดวกการบริการให้กับผู้เสียภาษี ต้องประสบความสำเร็จในการขยายฐานภาษี ต้องเป็นคนเก็บภาษีมืออาชีพ โดยไม่ต้องสนใจในเรื่องรับเงินใต้โต๊ะและจะไม่มีอีกต่อไป เพราะเงินได้ของเขาถูกกำหนดเองโดยอิสระภายใต้ผลงานของเขาเอง เก็บได้มาก ก็จะได้เพิ่มงบประมาณไปด้วย”

อย่างไรก็ตาม สำหรับบุคลากรที่เหลือของ 3 กรมจัดเก็บภาษีจะต้องไปทำเรื่องอื่น จะมีการโอนย้ายไปยังส่วนงานอื่นๆ ภายใต้กระทรวงการคลังไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรมบัญชีกลาง ไม่ใช่ว่า เมื่อตั้งหน่วยงานกึ่งอิสระขึ้นมาแล้วจะโอนย้ายเจ้าหน้าที่มาทั้งหมด จะเลือกมาเฉพาะคนที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น เพราะการจะให้กรมภาษีออกมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเพิ่มหรือลดภาษีก็กล้าๆกลัวๆ กลัวภาษีลด ภาษีเพิ่ม ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานนี้มาทำหน้าที่