Libra ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์

24 ก.ค. 2562 | 04:45 น.

ตั้งแต่ Mark Zuckerberg  ประกาศ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2019 ว่าจะทำการสร้าง Crypto currency ที่ชื่อว่า Libra ขึ้นมา มีการตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างมากมายจากทุกวงการที่เกี่ยวข้อง มีสมาชิกสภา Congress ออกมาออกความเห็นต่างๆ และได้มีการจัด Congress Hearing ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ด้านนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลแบบ Joseph Stiglitz ได้ออกมาเฉ่ง Libra แบบไม่มีชิ้นดี ล่าสุดที่ประชุม G7 ก็วางแผนจะถกกันเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน

ในส่วนของประเทศไทย ...ก็มีจัดงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง Libra นี้หลังประกาศของ Mark Zuckerberg ออกมาไม่นานนัก ด้าน ธปท.เองก็ได้มีการตั้งทีมงานที่ศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ และเข้าใจว่ามีการนัดแนะเพื่อให้ตัวแทนของ Facebook เข้ามาคุยหารือ จะเห็นได้ว่าทุกฝ่ายไม่ได้มีใครนิ่งนอนใจ และคนยังไม่ได้หยุดพูดถึงเรื่องนี้กันจนกระทั่งถึงวันนี้

วันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอมุมมองภาพรวมของ Libra ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ (บางเรื่องอาจมีผู้เปิดประเด็นไว้บ้างแล้ว แต่ถ้าไม่กล่าวถึงก็จะไม่ครบถ้วน โดยผู้เขียนจะขอเพิ่มมุมมองเพิ่มเติมของผู้เขียนเองด้วยในบทความนี้ค่ะ)

 

The “Money” Aspect

ตามข้อมูล White Paper นั้น Libra จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นNew Global Currency” อย่างไรก็ดี ถ้าจะให้ Libra
ถือเป็นเงินทางเศรษฐศาสตร์ Libra ต้องสามารถทำหน้าที่เป็น Unit of
Account, Store of Value และ Medium
of Exchange ได้

โดยการออกแบบ Libra ให้เป็น Stablecoin (Cryptocurrency มีการผูกค่ากับเงินสกุลอื่น หรือทรัพย์สินอื่น) เป็นการพยายามแก้ปัญหาของ Cryptocurrency อื่นๆในอดีตที่มีความผันผวนมากจึงทำหน้าที่เป็น Unit of Account และ Store of Value ไม่ได้ (ถึงแม้จะได้รับการยอมรับให้เป็น Medium of Exchange ได้ก็ตาม) โดยผู้สร้าง Libra ตั้งใจจะผูกค่าของ Libra กับ Basket of Assets และถูก back ด้วย Assets เหล่านั้น

จริงๆแล้ว Libra ก็ไม่ใช่ Stablecoin ชนิดแรกที่จะถูกสร้างขึ้น ก่อนหน้านี้มี Stablecoin ชนิดอื่นที่เคยถูกสร้างขึ้นมาแล้ว เช่น Tether, TrueUSD, etc. โดยจะมีการผูกค่าไว้กับ US Dollar และกติกาการสร้างก็คือต้องนำ US Dollar จริงๆ มาแลกเพื่อให้ได้ 1 Tether โดยผู้สร้างอ้างว่าทุกๆ 1 Tether จะถูก back ด้วย 1 USD ทำให้ราคา Cryptocurrency นี้มีค่าประมาณ 1 USD เสมอ

 

The “Trust” Aspect

แต่การที่ปล่อยให้ผู้เล่นอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารกลางสร้างเงิน” (หรือสิ่งที่ตั้งใจให้เป็นเงิน”) นี้ขึ้นมา มีปัญหาคือการกำกับ ดูแลและความโปร่งใส โดย Tether ได้ถูกโจมตีไปเมื่อช่วงต้นปีนี้ว่า การที่ Tether อ้างว่าทุกๆ 1 Tether จะถูก back ด้วย 1 USD นั้นอาจจะไม่เป็นความจริง และ Tether ไม่ได้ให้สร้างความโปร่งใสในการตรวจสอบว่ามี Reserve ดังกล่าวจริง และราคาของ Tether ก็ร่วงลงไปในช่วงนั้น (แต่ตอนนี้ก็กลับมาที่ประมาณ 1 USD แบบเดิมแล้ว)

แม้ Libra จะมีกติกาในการสร้างเหรียญ และ Libra Association นั้นประกอบด้วยบริษัทขนาดใหญ่ที่น่าจะเชื่อถือได้ แต่อย่างไรก็ดีการกำกับดูแลก็เป็นเรื่องจำเป็น ควรมีการตรวจสอบได้ว่า Libra Association ได้ทำตามสร้าง Libra ตามกฎกติกาที่สัญญาไว้หรือไม่

นอกจากนี้ปัญหาหนึ่งของ Blockchain ที่คนไม่ค่อยพูดถึง (อาจเป็นเพราะทางปฏิบัติเกิดขึ้นได้ยาก แต่ทางทฤษฎีนั้นเป็นไปได้) คือเรื่องของปัญหา 51% Attack คือการที่ใครก็ตามสามารถครอบครอง Validation Node ได้เกินครึ่งก็สามารถแก้ไขข้อมูลได้ตามที่ต้องการ ความเสี่ยงก็คือหากวันหนึ่งสมาชิกของ Libra Association แตกคอกันแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรวมเสียงได้เกินครึ่งก็จะสามารถแก้กฎกติกาที่ใช้ใน Blockchain นี้ได้

 

Libra ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์

 

อย่างไรก็ดี ถ้าถามผู้เขียนว่า Libra Association เชื่อถือได้ไหม ก็ต้องถามว่าเทียบกับใคร หากให้เทียบกับธนาคารกลางบางประเทศที่มีการพิมพ์เงินตามอำเภอใจจนประเทศเกิดปัญหา Hyperinflation รุนแรงแล้ว Libra Association ก็อาจจะน่าเชื่อถือกว่าก็ได้

 

The “Network” Aspect and the “Competition” Aspect

ทางเศรษฐศาสตร์มีการศึกษาเรื่องของ Network Effect ขอยกตัวอย่างเช่น พวก E-Commerce Platform ต่างๆ หรือ Application เรียกรถรับส่งต่างๆ การที่มีคนอยู่บน Platform ใดๆ มากก็ทำให้ประโยชน์ที่ผู้ซื้อผู้ขาย (หรือผู้ใช้บริการและผู้รับบริการ) ได้รับมีมากขึ้นด้วย

มองกลับมาที่ Libra หากคนหลายๆ คนที่เราติดต่อซื้อขายด้วยให้ Libra กัน มาก ก็ทำให้การที่เราเข้ามาใช้ Libra ก็ได้ประโยชน์มากขึ้นด้วย แต่หากคนรอบตัวเราไปเลือกใช้สิ่งอื่น เช่น เงินสกุลอื่น หรือ Stablecoin ชนิดอื่นที่อาจถูกสร้างขึ้นมาในอนาคต เราก็อาจไม่เลือกใช้ Libra และไปใช้สิ่งอื่นแทน

ประเด็นนี้น่าสนใจตรงที่ ถ้าการสร้าง Stablecoin ในรูปแบบของ Libra สร้างผลประโยชน์ให้กับผู้สร้างได้มากพอ (สมาชิกของ Libra Association จะได้รับ Investment Token ที่ได้รับผลตอบแทน) อาจมีผู้สร้างรายอื่นกระโดดเข้ามาอีก และจะเกิดการแข่งขันแบบที่ E-Commerce Platform ต่างๆ หรือ Application เรียกรถรับส่งต่างๆ แข่งขันกันอยู่ และการแข่งขันแบบนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ซึ่งผู้สร้างอาจจะต้องมีการลดแลกแจกแถมเพื่อให้คนมาใช้ Stablecoin ของตน (ตามข้อมูล White Paper ปัจจุบัน การถือ Libra นั้นจะไม่ได้ดอกเบี้ย แต่ในอนาคตถ้ามีการแข่งขันกัน ผู้สร้างอาจต้องมีของแถมอะไรบางอย่างให้ก็ได้)

นอกจากนี้ จริงๆแล้วธนาคารกลางก็มีศักยภาพในการสร้าง Stablecoin (ที่ให้ใช้แบบ Retail) มาเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคใช้ได้ แต่อย่างไรก็ดีเรื่องนี้เป็นเรื่องซับซ้อน เนื่องจากธนาคารกลางมีพันธกิจหลายด้านที่ต้องพิจารณา ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง

 

The Future of Libra?-Assuming that everyone is “Rational”

ถ้าถามผู้เขียนว่ามองอนาคตของ Libra ไว้อย่างไร ก็จะขอตอบโดยหลักการว่าทุกๆ ผู้เล่นคงมอง Benefit และ Cost ของตัวเองเป็นสำคัญ หาก Benefit มากกว่า Cost ผู้เล่นนั้นๆ ก็จะเข้ามาอยู่ในระบบหรือเข้ามาใช้ Libra

หากมองจากผู้บริโภคและผู้ขายสินค้า Benefit ที่ได้คือความสะดวก และ Network Effect หากคนรอบตัวใช้ Libra กันเยอะ ก็อาจจะทำให้เราได้ประโยชน์มากขึ้นถ้าเราเข้ามาใช้ ส่วน Cost ของผู้บริโภคและผู้ขายสินค้า คือความเสี่ยงของการบริหารจัดการ Libra โดย Libra Association หาก Libra Association ไม่ทำตามที่สัญญาไว้ทำให้ค่าเงิน Libra เกิดวิกฤติ ผู้บริโภคและผู้ขายสินค้าก็จะเดือดร้อน

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ผู้บริโภคและผู้ขายสินค้าจะไม่สามารถแน่ใจได้เลย (หากไม่มีการกำกับดูแล) ว่าทาง Libra Association (ที่จะเป็น Validation Node ของ Blockchain และจะเห็นข้อมูล Transaction ต่างๆ) จะเอาข้อมูลไปใช้ทำอะไรบ้าง

หากมองจากผู้สร้าง เช่น Libra Association (หรือผู้เล่นอื่นๆที่อาจจะเข้ามาสร้าง Stablecoin คล้ายๆกันในอนาคต) Benefit แรกที่ได้คือผลตอบแทนการลงทุนจาก Investment Token ที่ถืออยู่ Benefit อีกด้านคืออิสรภาพจากการต้องอาศัยธนาคารพาณิชย์และการที่ต้องขึ้นกับธนาคารกลางในการบริหารจัดการเงินที่ได้รับจากลูกค้า (อย่าลืมว่า Member ของ Libra Association ก็เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีลูกค้าเป็นของตัวเอง และน่าจะอยากเอา Libra มาใช้ในระบบของตัวเองในอนาคต)

ส่วน Cost หลักๆ คือการก้าวข้ามผ่านอุปสรรคของกฎหมายและการกำกับดูแลต่างๆ ตลอดจนให้ความรู้กับคนทั่วไป ซึ่งก็จะค่อนข้างลำบากในช่วงแรกๆ เพราะเป็นของใหม่ที่หลายๆ ฝ่ายยังต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ นอกจากนี้หากมีผู้เล่นอื่นเข้ามาสร้าง Stablecoin แบบนี้แข่ง อุปสรรคของผู้สร้างคือผู้สร้างรายอื่นที่เป็นคู่แข่งกัน

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.วรประภา นาควัชระ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3490 วันที่ 25-27 กรกฎาคม 2562

Libra ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์