เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ตอนที่ 2

31 ก.ค. 2562 | 09:00 น.

 

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้นำเสนอที่มาของการเกิดคำว่าเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ซึ่งมีแนวคิดที่ปฏิเสธนิยามของคำว่าเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวถึงการจัดระบบเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่ไม่สิ้นสุดที่อยู่ด้วยความโลภท่ามกลางระบบตลาดเสรีหรือระบบทุนนิยม ซึ่งเศรษฐศาสตร์สีเขียวมองว่าความคิดแบบนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อม โดยหลักการของเศรษฐกิจสีเขียวจะต้องพัฒนาเศรษฐกิจ โดยก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด มีการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมบางอย่างที่สามารถจะประหยัดในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยก่อให้เกิด มลพิษที่น้อยลงนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันได้มีผู้นำเสนอแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเขียวหลากหลายมุมมองจากองค์กรต่างๆ กัน ซึ่งผู้เขียนรวบรวมและสามารถสรุปประเด็นได้ดังนี้

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Rio+20 ระบุว่า เศรษฐกิจสีเขียวเป็นเครื่องมือเพื่อการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน ช่วยปกป้องและเพิ่มพูนทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพด้านทรัพยากร ส่งเสริมรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และขับเคลื่อนโลกไปสู่การพัฒนาแบบคาร์บอนตํ่า โดยเศรษฐกิจสีเขียวควรเป็น กรอบของการตัดสินใจทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการบูรณาการ 3 เสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน อันประกอบด้วย เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ในขณะที่ The Global Citizens Center ให้นิยามของเศรษฐกิจสีเขียวในแง่ของ “Triple bottom line” ที่คำนึงถึงความสัมพันธ์ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าระบบนิเวศของโลกเป็นระบบปิด มีทรัพยากรจำกัด และศักยภาพในการจัด การและการทดแทนทรัพยากรมีข้อจำกัด เราใช้ชีวิตโดยพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ของโลก ดังนั้น เราจึงจะต้องสร้างระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และจะต้องปรับการดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับระบบนั้น

2. สังคมตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าวัฒนธรรมและศักดิ์ศรีเป็นแหล่งทรัพยากรอันทรงคุณค่าเช่นเดียวกันกับทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ไม่ให้สูญสลายไป เราจึงต้องสร้าง ระบบเศรษฐกิจให้มีชีวิตชีวา เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงมาตรฐานการดำรงชีวิตเหมาะสม และได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเองและการเข้าสังคม

 

เศรษฐกิจสีเขียว  (Green Economy) ตอนที่ 2

 

และ 3. รากฐานของท้องถิ่น ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าการเชื่อมโยงที่แท้จริงระหว่างกันเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนและความยุติธรรม เศรษฐกิจสีเขียวจึงเป็นการรวบรวมความต้องการของแต่ละชุมชนท้องถิ่นจากทั่วโลกและตอบสนองความต้องการเหล่านั้นโดยการดำเนินการตามหน้าที่ ผลิตสินค้าในท้องถิ่นนั้น ตลอดจนแลกเปลี่ยน สินค้าและบริการระหว่างกัน

 

สำหรับแนวทางการนำไปสู่ความเป็นเศรษฐกิจสีเขียวนั้น International Trade Union Confederation หรือ ITUC ได้นำเสนอหลัก 10 ประการ ได้แก่ 1. ความเท่าเทียมกันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ 2. การ ดำเนินการแบบองค์รวมและการมีส่วนร่วมของเยาวชน ผู้หญิง คนยากจน และแรงงานที่มีทักษะตํ่า 3. การเปลี่ยนแปลงลักษณะของงานแบบดั้งเดิม และการสร้างงานแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและงานที่ดีมีคุณค่า 4. การเคารพในสิทธิของแรงงานและสหภาพแรงงาน

5. การบรรลุวัตถุประสงค์ทางสังคมและความพึงพอใจต่อความต้องการของมนุษย์ในระยะยาว รวมถึงการเข้าถึงแหล่งนํ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย พลังงาน ที่ดิน สุขภาพ การศึกษา การขนส่ง และวัฒนธรรม 6. การส่งเสริมการใช้แหล่งทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดลำดับความสำคัญของแหล่งพลังงานทดแทน การตระหนักถึงต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์วัฏจักรชีวิตและเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ (Zero Carbon) และของเสีย (Zero Waste)

เศรษฐกิจสีเขียว  (Green Economy) ตอนที่ 2

7. การให้ความสำคัญกับการใช้วัตถุดิบในการผลิตมากกว่าการลดต้นทุนด้านแรงงาน 8. การมีระยะเวลาในการเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวสำหรับแรงงานและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ รวมถึงการขยายโครงข่ายคุ้มครองทางสังคม พัฒนากลไกทางสังคมเพื่อนำไปสู่นโยบายเศรษฐกิจสีเขียว 9. การที่ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงปราศจากการเก็งกำไร และ 10. การส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย

สำหรับในประเทศไทยนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นิยามว่าเศรษฐกิจสีเขียวคือการพัฒนาที่มุ่งไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่กิจกรรมภายใต้แนวทางการพัฒนาดังกล่าว มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ไม่ส่งผลกระทบทำให้ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อม โทรม และสูญเสียความสมดุลในการที่จะคํ้าจุนการดำรงชีวิตและสนับสนุนวิถีชีวิตของประชากรในทุกสาขาการผลิต

 

ในขณะที่สำนักงานกอง ทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ระบุว่าเศรษฐกิจสีเขียวคือเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างความต้องการของมนุษย์กับทรัพยากรที่มีอยู่บนโลกใบนี้ โดยทิศทางของเศรษฐกิจสีเขียวคือการให้ความสำคัญต่อ “มูลค่าของการใช้ประโยชน์” (use-value) ไม่ใช่ “มูลค่าการแลกเปลี่ยนหรือเงิน” (exchange-value or money) อีกทั้งดำเนินการโดยคำนึงถึงคุณภาพ ไม่ใช่เน้นแต่ปริมาณเพียงอย่างเดียว

กล่าวโดยสรุปเราจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) นั้นไม่ได้คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงตัวทรัพยากรมนุษย์ ความเป็นมนุษย์ คุณภาพชีวิตและวิถีทางในการดำเนินชีวิตอีกด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วน แล้วแต่เป็นองค์ประกอบที่ช่วยกันขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีความสามารถ ในการฟื้นฟูตัวเองได้อย่างยั่งยืน อันหมายถึง การบรรลุ เป้าหมาย “ความยั่งยืนทางนิเวศ” (Ecological Sustainability) ที่จะนำไปสู่ “การพัฒนาแบบยั่งยืน” (Sustainable Development) อีกด้วย 

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

โดย ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3492 ระหว่างวันที่ 1 - 3 สิงหาคม 2562

เศรษฐกิจสีเขียว  (Green Economy) ตอนที่ 2