ดาวเทียมขาลง ‘PSI’ เบนเข็มปั้นแอพเรตติ้ง ขยายตลาดตปท.

03 ส.ค. 2562 | 04:05 น.

PSI ฮึดสู้ธุรกิจดาวเทียมขาลง ปรับแผนธุรกิจสู่บริการ Big Data สร้างฐานข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านแอพพลิเคชัน พีเอสไอ เรตติ้ง เดินหน้าขนเทคโนโลยีเสริมแกร่ง พัฒนากล่อง SMART SATELLITE รุ่น S3 Hybrid ออกทำตลาดทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนขยายไปยังอินโดฯ-อินเดีย

เมื่อเทคโนโลยีหมุนก้าวไปข้างหน้า ไม่แปลกที่พฤติกรรมของผู้บริโภคจะต้องติดตาม แต่สิ่งที่ยากสำหรับยุคนี้คงหนีไม่พ้นบรรดาผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักการตลาด ผู้เกี่ยวข้องที่ต้องวิ่งตามให้ทันเพราะหากยังเชื่อว่าสามารถทำธุรกิจแบบในอดีต ธุรกิจอาจถูก Disruption ในท้ายที่สุด เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ชีวิตประจำวันแบบแยกไม่ออก

หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการถูก Disruption คือธุรกิจมีเดีย ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อทีวี สื่อวิทยุ ล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น กระทั่งล่าสุดสื่อทีวีดาวเทียมรายใหญ่อย่าง PSI ก็ยังลุกขึ้นปรับปรุงตัวเองจากอดีตที่เคยเป็นผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมเพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันได้เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีที่นับวันจะพัฒนาไปไกล ประกอบกับต้นทุนข้อมูลที่ตัวเองพอมีอยู่บ้างจึงได้ลุกขึ้นมาต่อยอดทำธุรกิจเดิมสู่ธุรกิจใหม่คือแอพ พลิเคชัน PSI Rating เพื่อจัดเก็บ Data อย่างเต็มรูปแบบ

นายสมพร ธีระโรจนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอสไอ โฮล ดิ้ง จำกัด ผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมและกล่องรับสัญญาณทีวี “PSI” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า พฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์หรือรายการต่างๆ ของผู้บริโภคหนีไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น หากพีเอสไอไม่หันมาต่อยอดธุรกิจให้สอดคล้องกับผู้ชมอาจทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักในอนาคต ล่าสุดบริษัทได้พัฒนาแอพพลิเคชัน PSI Rating ขึ้นเพื่อหวังต่อยอดธุรกิจในปัจจุบันและเป็นคลังเก็บข้อมูล หรือ Big Data

ดาวเทียมขาลง ‘PSI’ เบนเข็มปั้นแอพเรตติ้ง ขยายตลาดตปท.

“ในอดีตพีเอสไอได้ดำเนินธุรกิจจานดาวเทียมและมีโรงงานผลิตจานดาวเทียมอย่างครบวงจร อาทิ กล่องรับสัญญาณรุ่นต่างๆ จานดาว เทียมระบบ C band (จานดำใหญ่) และ KU band (จานดำเล็ก) พร้อมสายนำสัญญาณคุณภาพ เป็นต้น ขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้นจึงได้พัฒนากล่องพีเอสไอคุณภาพสูงรุ่น S3 ขึ้น โดยกล่องรุ่นนี้เป็นกล่องที่มีระบบเซิร์ฟเวอร์ตั้งอยู่ในประเทศไทย มีความปลอด ภัย รวดเร็วและมีเสถียรภาพในการเรียกดูข้อมูลผ่านออนไลน์”

ดาวเทียมขาลง ‘PSI’ เบนเข็มปั้นแอพเรตติ้ง ขยายตลาดตปท.

สำหรับการทำงานของกล่องทีวีดาวเทียม S3 Hybrid สามารถตอบโจทย์ของผู้ชมเต็มรูปแบบ หรือเรียกว่าเป็นกล่อง SMART SATELLITE โดยมีฟังก์ชันต่างๆ คือ รับชมคอนเทนต์ระดับความคมชัดสูงแบบ HD หรือสามารถรับชมผ่านช่อง YouTube อื่นๆเพิ่มเติม เช่น เปิดภาพ วิดีโอ ฟังเพลง ร้องคาราโอเกะ เป็นต้น และการทำงานของกล่องดังกล่าวที่ครอบคลุมจะส่งผลให้การรับชมของผู้บริโภคที่ผ่านกล่องทีวีดาวเทียมนี้ถูกแปลง Data แบบ Realtime ผ่านแอพพลิเคชัน PSI Rating ซึ่งล่าสุดเปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดาวเทียมขาลง ‘PSI’ เบนเข็มปั้นแอพเรตติ้ง ขยายตลาดตปท.

ขณะเดียวกันบริษัทวางเป้าหมายเปลี่ยนกล่องทีวีดาวเทียมรุ่นเดิม หรือกล่อง S2 ที่สมาชิกใช้บริการอยู่มาราว 2 ล้านกล่องให้เป็นกล่อง S3 เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้านต่างๆในอนาคตทั้งในแง่ของผู้รับชมและบริษัทเองเนื่องจากกล่อง S3 เป็นระบบใหม่และต่อยอดมาเป็น Big Data ได้ซึ่งช่องรายการหรือลูกค้าที่ใช้ระบบการวัดเรตติ้งนี้สามารถรู้ได้ทันทีว่าปัจจุบันผู้ชมชื่นชอบรายการประเภทไหน มีคนดูจำนวนเท่าไร อยู่ที่ไหน เป็นต้น

 

“บริษัทมองว่าปัจจุบัน Big Data มีความสำคัญต่อการทำธุรกิจทุกรูปแบบ โดยเฉพาะผู้ผลิตคอนเทนต์และช่องรายการที่ต้องการทราบว่าคอนเทนต์ประเภทไหนที่ผู้ชมชื่นชอบซึ่งหลังจากที่ผู้ประกอบการทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว ก็จะสามารถปรับปรุงคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ผู้ชมได้ง่ายขึ้น ขณะที่ในแง่ของผู้ชมก็จะได้รับชมคอนเทนต์ดีๆ ที่ถูกใจตัวเองมากขึ้น”

ดาวเทียมขาลง ‘PSI’ เบนเข็มปั้นแอพเรตติ้ง ขยายตลาดตปท.

อีกทั้งในแง่ของการทำ Big Data ครั้งนี้บริษัทไม่ได้มองแค่การให้บริการในประเทศไทยเท่านั้นแต่ยังมองประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมด้วยโดยผ่านการจำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม ซึ่งที่ผ่านมาได้ขยายฐานไปแล้วที่ประเทศเมียนมา กัมพูชา เป็นต้น และเร็วๆ นี้เตรียมจะขยายตลาดไปยังประเทศอินโดนีเซีย และอินเดียเพิ่มเติม

นอกจากนี้บริษัทยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆเพิ่มเติมนอกเหนือจากกลุ่มทีวีดาวเทียม อาทิ เครื่องปรับอากาศ เครื่องกรองนํ้า และกล้องวงจรปิด เป็นต้น ขณะที่ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้กว่า 3,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นกลุ่มทีวีดาวเทียมและข้อมูล 80% และกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ 20%

ทั้งนี้จากข้อมูลของบริษัท กรุ๊ปเอ็ม พบว่า ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาอุตสาหกรรมสื่อดาวเทียมและเคเบิลทีวี ในปี 2561 มีเม็ดเงินโฆษณา 1,200 ล้านบาท ปี 2560 เม็ดเงินโฆษณา 1,900 ล้านบาท ปี 2559 กว่า 2,090 ล้านบาท ปี 2558 กว่า 3,600 ล้านบาท ปี 2557 กว่า 3,900 ล้านบาท และปี 2556 กว่า 7,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นเม็ดเงินโฆษณาในสื่อดาวเทียมและเคเบิลทีวีลดลงต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3492 ระหว่างวันที่ 1 - 3 สิงหาคม 2562