ลุยแก้ปากท้อง ภาพลวงตาที่(ยัง)ล้างไม่ออก

01 ส.ค. 2562 | 09:00 น.

 

คอลัมน์ปฏิกริยา...โดย บิ๊กอ๊อด ปากพนัง

 

ทุกวันนี้แม้ว่าจะได้สิทธิ์สวัสดิการ แต่การค้าขายไม่ดีเลย  ข้าวปลาอาหารก็แพงขึ้น สินค้าเกษตรเกือบทุกตัว ข้าว ยาง ปาล์ม  ราคาตกหมดแล้ว เกษตรกร จนแล้วจนอีก หนี้ก็มากขึ้นยังต้องเผชิญกับภัยแล้งอีก

 

วิบากกรรมไม่สิ้นจริงๆ 

 

มิหนำซ้ำคนกลุ่มฐานรากยังถูกซ้ำเติมด้วยการจัดระเบียบสังคม เช่นไล่แม่ค้าแผงลอยต่างๆ ทำให้กลุ่มคนที่ยังพอมีอาชีพอยู่ ต้องสูญเสียอาชีพไป จำนวนคนที่จะมีเงินมาจับจ่ายใช้สอย มาช่วยพยุงเศรษฐกิจ ยิ่งลดจำนวนลง กระทบเป็นโดมิโน กระทั่งรัฐบาลเองก็ออกมายอมรับกลายๆว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีจริง ช่วงที่ผ่านมาเงินไม่ได้สะพัดไปถึงมือประชาชนฐานรากจริงๆ 

 

แม้ตัวเลขภาพรวมเศรษฐกิจของไทยที่หน่วยงานรัฐออกมารายงานจะยังดีอยู่ แต่หากเจาะลึกลงไปรายภูมิภาคแล้วพบว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังชะลอตัว โดยเฉพาะในกลุ่มคนฐานรากยังเปราะบางเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำรายได้เกษตรกรไม่เพิ่มขึ้นทำให้การบริโภคไม่ขยายตัว

 

อย่างพื้นที่ด้ามขวานทองภาคใต้ถิ่นกำเนิดผู้เขียนเอง เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดว่าเศรษฐกิจยังซบเซาผลพวงมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง อย่างยางพาราและปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้รายได้และกำลังซื้อของคนใต้ลดลงไปด้วย

 

แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังมีความคาดหวังว่า รัฐบาลประยุทธ์ ภาค 2 จะสามารถฟื้นเศรษฐกิจฟื้นชีวิต ฟื้นความเป็นอยู่ของพวกเขาให้ดีขึ้นได้มากกว่านี้

 

หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหารวยกระจุก จนกระจาย แม้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยดีขึ้นกว่าปี 2557-2558 ตามที่รัฐบาลเคยแถลงไว้ เนื่องจากรัฐบาลมีการลงทุนในโครงการก่อสร้างต่างๆเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาคือรายได้และการขยายตัวทางเศรษฐกิจกลับกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ผู้ประกอบการรายย่อยเติบโตน้อย 

 

ขณะที่เศรษฐกิจระดับรากหญ้ากลับไม่ดี มีปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น ประชาชนมีกำลังซื้อลดลง สินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้น แต่คุณภาพชีวิตคนส่วนใหญ่แย่ลง 

 

แม้รัฐบาลจะมีการแจกเงินในโครงการประชานิยมต่างๆ แต่โครงการดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดการจ้างงาน จึงไม่เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ

ลุยแก้ปากท้อง  ภาพลวงตาที่(ยัง)ล้างไม่ออก

 

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์ ภาค 2 ต้องเร่งทำคือเร่งแก้ปัญหาการว่างงาน เพิ่มเม็ดเงินลงสู่กลุ่มคนฐานราก โดยใช้กลไกระดับท้องถิ่นในการสร้างงานสร้างรายได้ เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน 

 

ทั้งหมดนี้คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งทำให้เกิดผลเห็นเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว ณ วันนี้คนไทยอึดอัดเต็มทีกับภาวะเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ 

 

ข้างนักการเมืองเองก็อย่าลืมทำตามสัญญาที่หาเสียงไว้ ช่วยทำให้เห็นกันสักทีแบบ “รวยกระจาย จนกระจุก” ประชาชนกำลังรออยู่!!

 

อีกประเด็นใหญ่ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ นั่นคือปัญหาความเหลือมล้ำทางสังคม  หากเจาะลึกในประเด็นนี้จะพบว่าเกิดจากโครงสร้างทางสังคมและระบบทุนนิยม โครงสร้างทางภาษี ไม่ได้เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ไม่มีภาษีทรัพย์สิน ไม่ได้เก็บจากฐานทรัพย์สิน ไม่ได้เก็บจากรายได้ หรือความมั่งคั่ง แต่เก็บจากการบริโภค ทำให้ชนชั้นสูง กลาง ล่าง ต่างถูกเก็บอัตราเดียวกัน 

 

ไม่ว่ารายได้จะมากหรือน้อย ทุกคนซื้อน้ำ  1 ขวด ราคาเดียวกัน คนมีทรัพย์สินที่ดินมาก ก็เสียภาษีในสัดส่วนเท่ากันกับคนมีทรัพย์สินน้อย 

 

ขณะที่ในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดี จะจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ใช้ภาษีทรัพย์สิน เพื่อนำไปช่วยเหลือคนยากจน ทำให้เกิดความทัดเทียมทางสังคม

 

ในปัจจุบันยังมีคนไทยเป็นจำนวนมากที่ควรได้รับสิทธิ์จากสวัสดิการแห่งรัฐกลับไม่ได้รับ ขณะที่บางคนไม่ควรได้รับสิทธิ์กลับได้รับ

ลุยแก้ปากท้อง  ภาพลวงตาที่(ยัง)ล้างไม่ออก

 

มีคนรู้จักของผู้เขียนเล่าว่า มีสตรีคนหนึ่งขับรถเบนซ์เข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในต่างจังหวัดเพื่อรับบัตรสวัสดิการ ขณะที่มีประชาชนอีกไม่น้อยทั่วประเทศไม่มีหลักประกันทางสังคมรองรับความเสี่ยงจากการทำงาน 

 

พวกเขาเป็นคนร่อนเร่ไร้บ้าน ไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิตามฐานะคนไทยเลย ไม่มีสิทธิ์ตามสวัสดิการแห่งรัฐ  ขณะที่ลูกจ้างเมียนมา กัมพูชา กลับมีรายได้ 9,000 บาทต่อเดือนรวมแล้วสูงกว่าคนไทยที่ยากจนเสียอีก

ลุยแก้ปากท้อง  ภาพลวงตาที่(ยัง)ล้างไม่ออก

 

มีข่าวน่ายินดีว่ากระทรวงการคลังกำลังจัดทำแพ็กเกจโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่ เพื่อเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณา ซึ่งจะปรับหลักเกณฑ์การเปิดรับลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย หรือบัตรคนจนให้รัดกุมยิ่งขึ้น ป้องกันไม่ไห้คนที่มีรายได้สูงเข้ามาสวมสิทธิ์ถือบัตร

 

โดยวิธีการ จะเสนอให้ใช้รายได้ทั้งครัวเรือนประจำปี มาเป็นตัวชี้วัดแทนรายได้ของบุคคล ซึ่งวิธีเดิมกระทรวงการคลังได้ใช้เกณฑ์วัดให้ 1 คน ต้องมีรายได้หรือทรัพย์สินไม่เกิน 1 แสนบาท จึงเข้าร่วมได้ แต่เกณฑ์ใหม่จะวัดรายได้ทั้งครอบครัว เช่น ถ้าครอบครัวมี 4 คน ก็อาจวัดรายได้ครัวเรือนที่ 4 แสนบาท

 

 

อย่างไรก็ตาม จากการปรับหลักเกณฑ์เปิดรับลงทะเบียนรอบใหม่นี้ กระทรวงการคลังคาดว่า จะทำให้มีผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ลดลงไปถึง 1 ใน 3 จากปัจจุบันที่ได้รับสิทธิ์ 14.5 ล้านคน ลดเหลือไม่ถึง 10 ล้านคน ทำให้รัฐสามารถนำงบประมาณไปช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนและมีความจำเป็นจริง ๆ ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ขอเพียงอย่าทำให้ใครต้องตกหล่นไปอีก

 

ก็หวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นความหวังครั้งใหม่ ที่จะเคลียร์ภาพลวงตาที่(ยัง)ล้างไม่ออก