คาดเบลเยียมฟื้นเร็วจากระเบิด ผู้เชี่ยวชาญเชื่อผลกระทบท่องเที่ยวและเศรษฐกิจจำกัด

30 มี.ค. 2559 | 08:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

แม้เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในกรุงบรัสเซลส์จะสร้างความตื่นตระหนกให้กับนักท่องเที่ยวในระยะสั้น แต่ข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากเหตุก่อการร้าย ขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจคาดว่าจะมีในวงจำกัดเช่นเดียวกัน

นักวิเคราะห์ด้านการท่องเที่ยวจากบริษัทวิจัย ยูโรมอนิเตอร์ คาดการณ์ภายหลังจากเกิดเหตุระเบิดขึ้นในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันอังคารที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ว่า ยอดจองการเดินทางท่องเที่ยวมายังบรัสเซลส์จะลดลงประมาณ 10-20% ในระยะสั้นถึงระยะกลาง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า การท่องเที่ยวมักจะฟื้นตัวได้รวดเร็วในประเทศหรือเมืองที่ได้รับผลกระทบ

ผลการศึกษาโดยสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลกระบุว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวใช้เวลาประมาณ 13 เดือนฟื้นตัวจากการก่อการร้าย ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นกว่าเหตุการณ์ในลักษณะอื่นๆ เช่น โรคระบาดใช้เวลาฟื้นตัว 21 เดือน ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมใช้เวลา 24 เดือน และความไม่สงบทางการเมืองใช้เวลา 27 เดือน นอกจากนี้ การก่อการร้ายยังส่งผลกระทบน้อยที่สุดในบรรดาภัยพิบัติ 4 ประเภทในแง่ของการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศ

ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา เช่น เหตุระเบิดในสเปนและอังกฤษ แสดงให้เห็นแล้วว่า การฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสู่สเปนใช้เวลาเพียง 3 สัปดาห์ฟื้นกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดเหตุการณ์ระเบิดรถไฟโดยสารในเมืองมาดริดเมื่อปี 2547 จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 191 ราย ส่วนเหตุระเบิดในกรุงลอนดอนเมื่อปี 2548 แทบไม่ส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสหราชอาณาจักร

นักวิเคราะห์จากดีลอยท์ และเอสทีอาร์ โกลบอล กล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมเองก็รับมือกับเหตุการณ์ก่อการร้ายได้ดีขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยบริษัทต่างๆ มีการวางแผนในกรณีการเกิดภัยพิบัติและยุทธศาสตร์การสื่อสารที่ดีขึ้น

อัตราการเข้าพักโรงแรมในนิวยอร์กใช้เวลา 34 เดือนฟื้นตัวจากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่อาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เมื่อปี 2544 แต่ขณะเดียวกัน โรงแรมในมาดริดใช้เวลาเพียง 12 เดือนและลอนดอนใช้เวลาเพียง 9 เดือนในการฟื้นตัว

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติแสดงให้เห็นว่า แม้จะมีเหตุก่อการร้ายเกิดขึ้นหลายครั้งทั่วโลกในปี 2558 แต่การท่องเที่ยวโลกเติบโตได้ 4% โดยมีผู้คนเกือบ 1.2 พันล้านคนเดินทาง "ประสบการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์ในลักษณะนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นและเกิดในวงจำกัดมาก" แซนดร้า คาร์วาโอ โฆษกขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ กล่าว

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจจากบริษัทที่ปรึกษา ไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ คาดการณ์ว่า เหตุระเบิดในบรัสเซลส์จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเบลเยียมลดลง 0.1% เทียบเท่ากับผลกระทบของเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในกรุงปารีสเมื่อปลายปีก่อนต่อจีดีพีไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ฝรั่งเศส โดยเศรษฐกิจของเบลเยียมคิดเป็นสัดส่วนเพียง 4% ของยูโรโซนเท่านั้น จึงจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาค

ฟราสเชสก้า เพ็ค นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในฝรั่งเศสฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยผู้บริโภคชาวฝรั่งเศสไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันแม้จะมีเหตุก่อการร้ายเกิดขึ้น "เราคาดหมายว่าผู้บริโภคในเบลเยียมจะฟื้นตัวได้รวดเร็วเช่นเดียวกัน และคาดหมายผลกระทบในวงจำกัดทั้งด้านความเชื่อมั่นและความต้องการในการใช้จ่ายในช่วง 3-4 ไตรมาสข้างหน้า"

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์กล่าวเตือนว่า ถ้ามีเหตุก่อการร้ายเกิดขึ้นอีกเป็นระลอกในยุโรปหลังจากเหตุระเบิดที่กรุงบรัสเซลส์ ผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การใช้จ่ายของผู้บริโภค และภาคธุรกิจจะรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ การก่อการร้ายถูกจับตามองว่าเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรป นอกเหนือจากความกังวลต่ออนาคตของสกุลเงินยูโร อาชญากรรมไซเบอร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559