อัคราขอ 2 ปีปิดเหมืองทองชี้ประสบปัญหาขาดทุนภาครัฐไม่ต่อประทานบัตรให้

29 มี.ค. 2559 | 07:30 น.
อัครา เจ้าของเหมืองทองที่พิจิตร ขีดเส้นตาย ไม่เกิน 2 ปี ต้องปิดกิจการ ชี้ภาครัฐยังไม่ต่ออายุใบประทานบัตรเหมืองที่มีความสำคัญให้ ขณะที่เหมืองทองที่มีอยู่ต้นทุนสูงไม่คุ้มกับการขุด เจอราคาทองตกต่ำ หวั่นต้องทยอยปลดพนักงาน และต้องรอลุ้นโรงถลุงแร่ทองคำจะได้รับการต่อใบอนุญาตอีกหรือไม่ ด้าน กพร.เผยได้ต่อประทานบัตรเหมืองและโรงถลุงแร่หรือไม่ขึ้นกับคณะกรรมการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตัดสินใจ

นายสิโรจ ประเสริฐผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างรอการอนุมัติต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำชาตรี ในจังหวัดพิจิตร จำนวน 92 ไร่ จากแปลงประทานบัตรที่มีอยู่ 14 แปลง กินเนื้อที่ประทานบัตรประมาณ 3.9 พันไร่ หลังจากที่ประทานบัตรดังกล่าวหมดอายุมาตั้งแต่ปี 2555 โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ทวงถามมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่มีคำตอบจากภาครัฐว่าจะต่ออายุประทานบัตรเหมืองได้เมื่อใด

ทั้งนี้ การต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำดังกล่าว ถือว่ามีความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเหมืองที่มีศักยภาพปริมาณสำรองแร่ยังเหลืออีกมาก ประกอบกับมีการออกแบบเหมืองไว้ค่อนข้างดี ทำให้ต้นทุนการขุดแร่ต่ำกว่าเหมืองทั้ง 13 แปลงที่มีต้นทุนการขุดแร่สูงและปริมาณแร่ที่ต่ำ ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจอยู่บนความยากลำบาก จากต้นทุนที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาทองคำที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.2 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ทำให้บริษัทต้องประสบกับภาวะขาดทุน จากเดิมที่เคยผลิตทองได้ปีละ 1.4 แสนออนซ์ ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 1.3 แสนออนซ์ และนับจากปี 2555 เป็นต้นมาจากที่เคยมีกำไรอยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท ในปี 2556 เริ่มลดลงมาอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท ปี 2557 อยู่ที่ 1 พันล้านบาท และในปี 2558 บริษัทมีค่าใช้จ่าย 4 พันล้านบาท จ่ายค่าภาคหลวง 440 ล้านบาท และได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ต้องประสบปัญหาขาดทุนที่ 2 พันล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะขาดทุนต่อเนื่องอีก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจะเข้าสู่ภาวะขาดทุนแล้วก็ตาม แต่ที่ต้องดำเนินธุรกิจต่อไปนั้น เนื่องจากไม่ต้องการให้พนักงานประจำที่มีอยู่ประมาณ 350 คน ต้องตกงาน หลังจากที่ได้มีการปลดพนักงานไปแล้วกว่า 20 คน ซึ่งยังไม่รวมลูกจ้างในเหมืองอีกราว 1 พันคนนายสิโรจ กล่าวอีกว่า ดังนั้น หากทางกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่สามารถต่อประทานบัตรให้กับเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ 92 ไร่ได้ ภายในปี 2560 บริษัทก็มีแผนที่จะปิดการดำเนินงานลง และภายในปีนี้ หากราคาทองคำไม่ขยับไปที่ระดับ 1.7-1.8 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ก็อาจจะต้องทยอยปลดพนักงานออกเป็นช่วงๆ เพราะไม่สามารถทนแบกภาระค่าใช้จ่ายได้ แต่หากได้รับต่ออายุประทานบัตรเหมือง แม้ราคาทองตกต่ำ แต่ต้นทุนการผลิตลดลงบริษัทก็ยังสามารถอยู่รอดได้

นอกจากนี้ บริษัทยังมีความกังวลในการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบ โลหกรรมหรือในส่วนของโรงถลุงแร่ทองคำของบริษัทที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งกำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 13 เดือนพฤษภาคม 2559 นี้ เพราะหากโรงถลุงแร่ไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตก็เท่ากับว่าต้องหยุดการดำเนินงานของบริษัททั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถนำแร่เข้าถลุงได้ นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำหรับการยื่นขอต่อใบประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะต้องดูผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่มีกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียนมา ซึ่งที่ผ่านมาทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการประมวลผลข้อมูลและวิเคราะห์ถึงสาเหตุผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ทำให้ประชาชนมีโลหะหนักในร่างกายสูง ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อสรุปออกมาแล้ว จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาว่าจะเปิดให้มีนโยบายส่งเสริมการทำแร่ทองคำต่อไปหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่ทราบว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อใด

ส่วนการต่ออายุใบอนุญาตประกอบ โลหกรรมของโรงถลุงแร่ทองคำหรือไม่นั้น ล่าสุดได้มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีผู้คัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เนื่องจากพบสารโลหะหนักปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะกรรมการจะใช้ระยะเวลาการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าการดำเนินการต่างๆ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ รวมทั้งได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของทางราชการถูกต้องหรือไม่ โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนที่จะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะต่ออายุโรงถลุงแร่ทองคำหรือไม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559