ทำไมเราจึงควรลงทุน ในการศึกษาของผู้หญิง?

07 ส.ค. 2562 | 04:35 น.

คอลัมน์เศรษฐเสวนาจุฬาฯทัศนะ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3494 หน้า 7 วันที่ 8-10 สิงหาคม 2562

โดย ผศ.ดร.เจสสิกา เวชบรรยงรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,

ผศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 

 

การลงทุนทางการศึกษาถือเป็นแนวนโยบายหลักของประเทศทั่วโลกที่ใช้ในการพัฒนาทรัพยากร มนุษย์ Psacharopoulos and Patrinos (2018) ได้ทำการทบทวนงานวิจัยเรื่องอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนทางการศึกษาใน 139 ประเทศจากผลประมาณการ กว่า 1,120 ผลการศึกษา พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว อัตราผลตอบแทนในการลงทุนทางการศึกษาทั่วโลกอยู่ที่ 9% ต่อปี กล่าวคือ หากคนมีการศึกษาเพิ่มขึ้น 1 ปีจะส่งผลให้มีค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น 9% โดยอัตราผลตอบแทนนี้มีแนวโน้มคงที่ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา และพบว่าอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนทางการศึกษาของผู้หญิงมีค่าสูงกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงอยู่ที่ 9.5% ขณะที่ผู้ชายอยู่ที่ 8% แสดงให้เห็นว่า การศึกษาเป็นปัจจัยหลักสำคัญในการเพิ่มรายได้ของผู้หญิงทั่วโลก

ในกรณีของประเทศไทย Warunsiri and McNown (2010) พบผลการศึกษาที่สอดคล้องกันแต่มีค่าที่สูงกว่า โดยอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนทางการศึกษาโดยเฉลี่ยของผู้หญิงไทยอยู่ที่ 18% ซึ่งสูงกว่าผู้ชายซึ่งอยู่ที่ 13% ดังนั้นการเพิ่มระดับการศึกษาเพียง 1 ปีของผู้หญิงไทยจะเพิ่มค่าจ้างโดยเฉลี่ยถึง 18% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก

ทั้งนี้ การลงทุนทางการศึกษาในผู้หญิงไม่เพียงแต่จะเพิ่มรายได้ให้กับตนเองเท่านั้น แต่ยังให้ผลประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมอีกด้วย 

Schultz (2002) ได้สรุปประเด็นสำคัญถึงเหตุผลที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการลงทุนการศึกษาในเด็กผู้หญิง ในประเด็นการก่อให้เกิดผลกระทบภายนอกเชิงบวก (Positive externalities) ในภาพรวม โดยพบว่า การลงทุนทางการศึกษาไม่เพียงแต่ผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพียงเท่านั้น แต่หากพิจารณาในระดับครัวเรือน ก็พบว่าการศึกษาส่งผลเชิงบวกในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเป็นการถ่ายทอดผลจากรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย

โดยผลเชิงบวกจากการเพิ่มระดับการศึกษาของคุณแม่นั้น ส่งผลให้มีการเพิ่มนํ้าหนักแรกเกิดและอัตราการรอดชีวิตของทารก การยกระดับโภชนาการในการเลี้ยงดูเด็ก การเพิ่มอัตราการลงทะเบียนทางการศึกษา และการเพิ่มระดับการศึกษาสูงสุดของเด็กเมื่อเติบโตขึ้น นอกจากนั้นแล้วการเพิ่มระดับการศึกษาของคุณแม่จะส่งผลต่อพัฒนาการของลูกมากกว่าการเพิ่มการศึกษาของคุณพ่อ

ทำไมเราจึงควรลงทุน  ในการศึกษาของผู้หญิง? ทำไมเราจึงควรลงทุน  ในการศึกษาของผู้หญิง?

 

 


 

ดังนั้น จึงพบว่าหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอเมริกาใต้ ให้ความสำคัญในการลงทุนทางการศึกษากับผู้หญิง และประสบความสำเร็จในการเพิ่มระดับการศึกษาของผู้หญิงในประเทศ ผ่านนโยบายที่มีลักษณะเฉพาะ

เริ่มจากการลดต้นทุนการเข้าเรียนของเด็กผู้หญิงโดยการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของคุณพ่อคุณแม่ การสร้างโรงเรียนที่ใกล้บ้าน การลดค่าธรรมเนียมการเรียนโดยเฉพาะสำหรับเด็กผู้หญิง การให้การสนับสนุนเด็กผู้หญิงในเรื่องของเครื่องแบบ อุปกรณ์การเรียน รวมถึงการให้ทุนการศึกษาเฉพาะสำหรับเด็กผู้หญิง

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศบังกลาเทศ มีการให้ทุนการศึกษาเฉพาะสำหรับเด็กผู้หญิงเพื่อเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา ประเทศเม็กซิโกมีการให้เงินช่วยเหลือกับกลุ่มคุณแม่ที่อาศัยในชนบท ประเทศบราซิลมีการให้เงินช่วยเหลือกับคุณแม่ที่อยู่ในครัวเรือนที่ยากจน โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กยังคงเรียนอยู่ในโรงเรียน

อย่างไรก็ตามในบางประเทศ วัฒนธรรม และความเชื่อก็ยังเป็นอุปสรรคในการให้การศึกษากับผู้หญิง เช่น คุณพ่อคุณแม่ยังมีอคติในการศึกษากับเด็กผู้หญิง หรือบางประเทศในแถบแอฟริกา สังคมไม่ให้เด็กผู้หญิงเรียนร่วมกับเด็กผู้ชาย ทำให้หากมีการขาดแคลนโรงเรียนสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะก็จะเป็นอุปสรรคต่อเด็กผู้หญิงในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป

ในประเทศไทย Paweenawat and Vechbanyongratana (2015) ได้ทำการศึกษาผลลัพธ์จากการให้ทุนการศึกษา กรณีศึกษา นักเรียนหญิงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่อยู่ในเขตพื้นที่ชนบทและมีฐานะยากจน โดยงานวิจัยนี้เป็นการเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 3 ปีด้วยกัน เริ่มเก็บข้อมูลนักเรียนหญิงที่ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่ มัธยมศึกษาปีที่ 4-6 จนกระทั่งถึงผลหลังจากสำเร็จการศึกษา

 

โดยผลการศึกษา พบว่านักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษามีโอกาสในการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยสูงกว่านักเรียนที่ไม่ได้รับทุนการศึกษา ขณะเดียวกันการเรียนอยู่ในห้องเรียนเดียวกันกับนักเรียนที่ได้ทุนการศึกษาก็ยังส่งผลให้เพิ่มโอกาสนักเรียน ที่ไม่ได้รับทุนการศึกษาในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอีกด้วย

ผลการวิจัยนี้ จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในประเทศไทยว่า การใช้นโยบายในการช่วยขจัดอุปสรรคในการศึกษาของเด็กผู้หญิง แม้เป็นเพียงการให้ทุนการศึกษา ซึ่งต้นทุนที่ใช้ในการลงทุนก็ไม่ได้สูงมากนัก ยังสามารถที่จะช่วยให้เด็กผู้หญิงมีโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ส่งผลประโยชน์ไม่เพียงแต่อนาคตของเด็กกลุ่มนี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงครอบครัวและสังคมของเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นกำลังแรงงานหลักในการช่วยพัฒนาประเทศไทยต่อไปได้ในอนาคต

 

อ้างอิง

• Psacharopoulos, G. and Patrinos, H. (2018) Returns to Investment in
Education: A Decennial Review of the Global Literature. Policy Research Working Paper; No. 8402. World Bank, Washington, DC

• Schultz, P. (2002) Why Governments Should Invest More to Educate Girls. World Development 30(2): 207-225

• Paweenawat S.W. and Vechbanyongratana J. (2015) Transfer payments and upper secondary outcomes: The case of low-income female students in Thailand. The Singapore Economic Review 60(4): 1550082 (1550019pages)

• Warunsiri, S. and McNown R. (2010) The Returns to Education in Thailand: A Pseudo-Panel Approach. World Development 38(11): 1616-1625

 

ทำไมเราจึงควรลงทุน  ในการศึกษาของผู้หญิง?