สุดลํ้า!ผนวกเทคโนฯ‘โดรน-AI’วัดหวานอ้อย

11 ส.ค. 2562 | 02:55 น.

ม.ขอนแก่น ร่วมเอกชน พัฒนาบริการโดรนประเมิน “ผลผลิต-ความหวาน” ไร่อ้อย ชูเทคโนโลยี AI ช่วยวิเคราะห์ ชี้แม่นยำสูง พบข้อผิดพลาด 5-10% ขณะที่การใช้คนจัดการข้อมูลผิดพลาด 40% ขณะที่ต้นทุนตํ่า ค่าบริการเริ่มต้นไร่ละ 6 บาท ตํ่ากว่าต่างประเทศ 10-20 เท่า

รศ.ดร.ขวัญตรี แสงประชาธนารักษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการ พัฒนาอากาศยานไร้คนขับ เพื่อประเมินความหวานอ้อย การประเมินผลผลิตอ้อย (Field Practice Solutions : FPS) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมมือกับ บริษัท เอชจี โรบอติกส์ จำกัด ผู้พัฒนาอากาศยานไร้คนขับ และ บริษัท โกลบอล ครอปส์ จำกัด ผู้จำหน่ายเคมีเกษตร ในการพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ เพื่อการประเมินผลผลิตอ้อย (Field Practice Solutions)

โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นการนำอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน มาพัฒนากับซอฟต์แวร์ภาพถ่ายดาวเทียมของเอกชน นำมาวิเคราะห์ค่าความหวาน การเติบโตของพืช การวิเคราะห์โรคพืช โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสามารถวิเคราะห์ข้อมูลไร่อ้อยเป็นแสนๆ ไร่ในเวลาอันรวดเร็วและแม่นยำ เรียกว่าระบบ Artificial Intelligence (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เมื่อสามารถวิเคราะห์ ภาวะการเก็บเกี่ยวในเวลาที่ถูกต้อง จะไม่สูญความหวาน ไม่สูญเสียผลผลิต เกิดการคำนวณการจัดคิวการเก็บเกี่ยว ผลผลิตในช่วงเวลาดีที่สุด ความหวานดีสุดจะทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตและลดภาวะการเผาอ้อย ลดการเกิดมลพิษพีเอ็ม 2.5 เกิดการจัดการในทุกมิติ

ทั้งนี้นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมานั้น มีความหวานแม่นยำสูง โดยขณะนี้มีข้อผิดพลาดในการ ตรวจค่าความหวานประมาณ 5-10% ขณะที่ระบบ จัดการด้วยคนคือเก็บตัวอย่างด้วยมนุษย์ซึ่งมีความผิดพลาดสูงถึง 40% และมีราคาต้นทุนตํ่ากว่าบริการคู่แข่งในต่างประเทศมากถึง 10-20 เท่า โดยเบื้องต้นหากมีการบินโดรนเก็บข้อมูลพื้นที่ 1 แสนไร่ ให้บริการอยู่ราวไร่ละ 6 บาท ขณะที่ต่าง ประเทศให้บริการอยู่ราว 60-120 บาทต่อไร่

“นักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหน้าที่นำภาพถ่ายดาวเทียม มาวิเคราะห์อัลกอริทึม หรือ วิธีขั้นตอนกระบวนการ วิเคราะห์ ค่าสะท้อนแสง ของใบพืช ค่าการดูดกลืนของนํ้า ในใบพืช แสดงผลเป็นความเข้มของสี แสดงความหวานที่เหมาะสม บวกลบไม่เกิน 1 คือมีความแม่นยำสูงมาก ด้วย หุ่น ยนต์อัตโนมัติ (AI) ทำให้เห็นว่า พื้นที่ตรงไหนเป็นอ้อย ตรงไหนคือดิน ความสูงของอ้อย เท่าไหร่ คิดเป็นความหวานเท่าไหร่ สุขภาพดีไหม อ้อยโตหรือยังโดยอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์เทคโนโลยีอัตโนมัติ AI ซึ่งระบบนี้เป็นโมดูลหนึ่งใน FPS

สุดลํ้า!ผนวกเทคโนฯ‘โดรน-AI’วัดหวานอ้อย

นอกจากนี้ระบบดังกล่าวยังออกแบบให้มีการป้องกันข้อมูลควบคุมการบินและจำกัดข้อมูล ไม่ให้รั่วไหลในต่างประเทศ เพื่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและการเกษตรของชาติด้วย โดยอนาคตคาดหวังว่าจะเกิดการใช้ฐานข้อมูลนี้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากบิ๊กดาต้านั้นหากมีผู้ใช้งานปริมาณมากข้อมูลก็สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น โดยบิ๊กดาต้าทั้งหมดจะเป็นการรวบรวมโรงงานทั้งหมด ไร่อ้อยทั้งหมด สามารถพัฒนาข้อมูลได้เอง เป็นประโยชน์กับชาติในทุกด้าน ซึ่งในอนาคตอันใกล้ระบบหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์จะเป็นสิ่งที่จับต้องได้และได้รับความนิยมมากไม่วันใดวันหนึ่งก็ต้องมาถึง แล้วเราจะพร้อมสำหรับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดร่วมกันในหลากมิติ”

 

รศ.ดร.ขวัญตรี กล่าวว่า “Field Practice Solutions (FPS) : ที่ปรึกษาทุกปัญหาเรื่องไร่” มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่เป็นการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ เพื่อประเมินความหวานอ้อยในมาตรฐานระดับนานาชาติเท่านั้น แต่นับเป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติ (AI) สำหรับการเกษตรปรึกษาเรื่องไร่อย่างครบวงจรด้วยระบบอัตโนมัติ สามารถวิเคราะห์เชิงลึกว่า โรงงานนํ้าตาลจะใช้เครื่องจักรกี่ตัวที่ให้ผลประโยชน์สูงสุด คำนวณพื้นที่ใส่ปุ๋ย บ่งชี้โรคพืชโดยอัตโนมัติ เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G และ AI ที่กำลังมาถึง โดยมีแนวโน้มว่าเกษตรกรจะสามารถปลูกอ้อยและจัดการอ้อยเป็น 100 ไร่ได้เพียงคนเดียว

การพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ เพื่อการประเมินผลผลิตอ้อย เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุน ภายใต้แผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสำนักงานพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำให้สามารถให้บริการในต้นทุนที่ตํ่ากว่าต่างประเทศ 10-20 เท่า โดยระบบที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น พัฒนาคู่ขนานกันไป คือ ระบบประเมินผลผลิตมันสำปะหลัง โดยนำเทคโนโลยี AI มาใช้วิเคราะห์ปริมาณผลผลิต 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3494 ระหว่างวันที่ 8 - 10 สิงหาคม 2562